จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการจัดกลุ่มเปิดพื้นที่สีฟ้ารับการท่องเที่ยวระยะที่ 1 ระหว่าง 1-30 พ.ย.นี้ โดยจะเริ่มใน 4 อำเภอนำร่อง คือ อ.เมืองเชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า โดยประชากรในพื้นที่ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70 % ขณะที่ตัวเลขการติดเชื้อในพื้นที่เชียงใหม่เร่งตัวสูงขึ้นแตะวันละกว่า 300 คน และเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน(คลัสเตอร์)นับสิบ ทำให้ผู้บริหารในพื้นที่เร่งร้อนออกมาเพิ่มความเข้มมาตรการคุมการระบาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน เพื่อติดตามการดำเนินงานแ ละแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 จังหวัดเชียงใหม่ ที่กลับมามีจำนวนสูงขึ้นอีกครั้ง และมีคลัสเตอร์กระจายในหลายพื้นที่ของจังหวัด
ที่ประชุมมีมติให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์แยกกักชุมชน (Community Isolation -IC) ในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผลักดันให้เกิดหมู่บ้านสีฟ้า ตำบลสีฟ้า และอำเภอสีฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ในการดูแล ป้องกัน แก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ของชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่คลัสเตอร์ ตลาดเมืองใหม่ ยังคงพบยอดการติดเชื้อสูงต่อเนื่อง และพบการละเลยต่อการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงสูง
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้สั่งการให้เพิ่มความเด็ดขาด ในการกักกันตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ารายย่อยในตลาด และแรงงานที่ทำหน้าที่เข็นรถรับส่งผักในตลาด ให้กักตัวอย่างถูกต้องโดยขอให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับฝ่ายปกครอง จัดพื้นที่พักพิง และดูแลอำนวยความสะดวกอาหารการกินให้อย่างดี ตามช่วงเวลาที่มีการกักตัว เพื่อยุติการระบาดให้ได้โดยเร็ว
พร้อมขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ขายกลุ่มเสี่ยงสูงในตลาดเมืองใหม่ หยุดการเคลื่อนย้ายไปเปิดการซื้อขายในสถานที่จำหน่ายอำเภออื่น ๆ เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และหากร่วมมือกันอย่างเต็มที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 13 ต.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 337 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัดถึง 333 ราย อีก 4 รายเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนก.ค. 2564 อยู่ที่ 6,395 ราย
ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 1,628 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ 825 ราย โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ 37 ราย โรงพยาบาลรัฐ 296 ราย โรงพยาบาลเอกชน 469 ราย และโรงพยาบาลต่างจังหวัด 10 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 1,279 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 311 ราย อาการหนัก (สีแดง) 38 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 43 ราย
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมระลอกเดือนเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน) มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วทั้งหมด 10,564 ราย และรักษาหายแล้ว 8,651 ราย
ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 789,941 คน คิดเป็นร้อยละ 62.63 ของเป้าหมาย แบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 182,629 คน คิดเป็นร้อยละ 55.73 กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังฉีดแล้ว 90,565 คน คิดเป็นร้อยละ 74.76 และกลุ่มประชาชนทั่วไป ฉีดแล้ว 516,747 คน คิดเป็นร้อยละ 63.61