นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงปัจจัยบวก-ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า ด้านปัจจัยบวก จะเห็นได้ว่า ขณะนี้มีวัคซีนเข้ามาแล้วและเพิ่มขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีมากรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์รอบวันที่ 16 ต.ค.นี้ โดยมีการผ่อนคลายกิจการและขายเวลาการเปิดดำเนินการเพิ่มขึ้น
เบื้องต้นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลบวกจากการคลายล็อกดาวน์จะส่งผลให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อวัน จากมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประชาชน และภาคธุรกิจเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลประกาศเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ และช่วงปลายปีมีเทศกาลต่าง ๆ คาดการท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อภาครัฐมีมาตรการที่ผ่อนคลายแล้ว ภาคธุรกิจก็ต้องมีความพร้อมในการวางมาตรการต่าง ๆ ที่จะคอยดูแลธุรกิจของตัวเอง พี่น้องประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ และมีจิตสำนึกในการใช้บริการต่าง ๆ โดยคิดถึงความปลอดภัยต้องมาก่อน ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
นอกจากนี้ปัจจัยบวกเศรษฐกิจในปีนี้คือ ภาคการส่งออกมีโอกาสเติบโตสูง น่าจะขยายตัวได้ 12-14% แม้ว่าในปี 2564 ไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคส่งออกได้รับผลกระทบและมีความอ่อนไหวจากปัญหาของอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ใส่สินค้าขาดแคลน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออก แต่ช่วงนี้ได้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น ทำให้การส่งออกไทยน่าจะดีขึ้นพร้อมไปกับการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศ ดังนั้นไทยควรเร่งให้เกิดการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เศรษฐกิจปลายปีนี้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดในการประชุม กกร. ประจำเดือนตุลาคม ได้ปรับเพิ่มกรอบการขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ 0% ถึง 1% จากเดิมคาด -0.5% ถึง 1%
ขณะที่ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจคือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลก ส่งผลราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม อาจกระทบต่อการฟื้นหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่กำลังฟื้นตัว รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่ง กกร.คาดสถานการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.1% ของจีดีพี รวมถึงความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดหากมีการระบาดของเชื้อโควิดกลับมา