"WHA" ปรับกลยุทธ์ดึง 5G เพิ่มศักยภาพธุรกิจดึงดูดลูกค้า

18 ต.ค. 2564 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 21:13 น.

WHA ปรับแผนลงทุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G พัฒนาธุรกิจสู่ระบบอัจฉริยะ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คาดโลจิสติกส์ในอนาคตจะเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยในงานสัมนา EEC : 5G... ดันศักยภาพไทยแข่งขันเวทีโลก ภายใต้หัวข้อ โครงสร้างพื้นฐาน 5G ดันศักยภาพไทยแข่งขันเวทีโลก ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า นิคมอุตสาหกรรมของ WHA มี 10 แห่งที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) โดยมีโรงงานมากกว่า 858 โรงงาน มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท  ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ พลังงาน โลจิสติกส์  คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์  

ทั้งนี้ เมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามามีบทบาท WHA จึงได้มีการปรับแผนการลงทุน ประกอบด้วย 
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ซึ่่งมีพื้นที่เกือบ 50,000 ไร่ มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมให้พร้อมรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้า ให้กลายเป็น Smart Eco Industrial Estate ทั้งด้าน Smart Factory, Smart energy, Smart mobility และอื่นๆ
ธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคตจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งในตอนนี้บริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่ในเมืองไทยก็ได้ปรับไปเป็น Semi-automate แล้ว โดยในประเทศจีนที่ได้ไปดูงานมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร จะมีการใช้แรงงานคนเพียง 8 คน โดยในคลังสินค้าห้องเย็นก็เปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด ในฐานะที่ WHA เป็นผู้ให้เช่าคลังสินค้า ก็จะมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมเสริมการบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ธุรกิจพลังงาน มีการพัฒนาเป็น Smart Energy แบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกจะเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ในรูปแบบ Solar Roof และ Solar Floating ในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนเฟสที่สองทำเรื่อง distribution network มีการทำข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ และมีการทำ sand box เรื่องการแลกเปลี่ยนพลังงานให้กับคู่ค้า (peer-to-peer energy trading) ส่วนในเฟสที่สาม คือการทำระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid control) ทำให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้ขาย (Prosumer)พลังงาน
ในส่วนสาธารณูปโภคพัฒนาให้เป็น Smart Utility โดยทำเป็น sandbox เพื่อใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมและมีแผนจะต่อยอดไปทำภายนอกด้วย อาทิ เรื่องน้ำมีการติดตั้งระบบ SCADA Improvement โดยมีการควบคุมจากส่วนกลางกระจายน้ำไปให้โรงงานต่างๆ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงการจัดการ traffic control และการจัดการมลพิษทางอากาศ
ธุรกิจดิจิทัล มีการจัดทำ Data Center 4 แห่ง โดยมีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทด้านโทรคมนาคม เพื่อศึกษาแนวทางในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือใช้เสาสัญญาณ 5G ร่วมกันในพื้นที่อีอีซี ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่บริษัท WHA เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการวางโครงสร้าง 5G แต่เป็นบริษัทในพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถยกระดับการผลิตให้แข่งขันได้เต็มรูปแบบ

นางสาวจรีพร กล่าวต่อไปอีกว่า เทคโนโลยี 5G เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ รวมถึงการศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G เปิดประตูโอกาสให้การใช้งานในภาคธุรกิจแบบ B2B และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมก้าวไปเป็นถึง 4.0 ได้ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ความหน่วงต่ำ และความสามารถในการรองรับอุปกรณ์ได้มหาศาล และที่สำคัญยังช่วยประหยัดพลังงามากกว่าเดิม
สำหรับในปี 2030 คาดการณ์ว่าอุปกรณ์ 5G IoT จะมียอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 ประมาณ 22.3 ล้านยูนิต รองลงมาเป็นกลุ่ม Smart City, Smart Energy, การใช้งานในออฟฟิศ, Smart Security, ความเชื่อมโยงด้านสุขภาพ และอื่นๆ