ทช.ขยายถนนสาย ฉช.3001 ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ หนุนสนามบินสุวรรณภูมิ-อีอีซี

19 ต.ค. 2564 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2564 | 14:38 น.

ทช.ลุยขยายถนนสาย ฉช.3001 ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ วงเงิน 3.7 พันล้านบาท ส่งเสริมพื้นที่อีอีซี หวังพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ

รายงาข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 – ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ รวมระยะทาง 20.329 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 3,712.8090 ล้านบาท เป็นงบผูกพันปี 2559 – 2564  ที่ผ่านมาทช.ได้ดำเนินการขยายถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 – ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ โดยได้ปรับปรุงถนนเดิมจากขนาด 2 ช่องจราจร ให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และขนาด 6 ช่องจราจร โดยเส้นทางดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 บริเวณ กม.ที่ 18+000 ตำบลคลองประเวศ ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อยกระดับการส่งออกของประเทศอย่างยั่งยืน 

ทช.ขยายถนนสาย ฉช.3001 ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ หนุนสนามบินสุวรรณภูมิ-อีอีซี

สำหรับแนวเส้นทางโครงการไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพาดผ่านพื้นที่ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลคลองสวน ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และมีจุดสิ้นสุดบนถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 ที่ กม. 20+329 บรรจบที่ถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครโดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง (บริเวณนอกเขตชุมชน)และขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า (บริเวณในเขตชุมชน) และก่อสร้างสะพานรวม 10 แห่ง 

ทั้งนี้ถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001แยกทางหลวงหมายเลข 314 – ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ เป็นเส้นทางที่มีปริมาณในการเดินทางและการขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการขยายตัวเติบโตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 มีปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความล่าช้าในการสัญจรไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  หลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโครงข่ายบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิให้สมบูรณ์ รวมถึงเป็นการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รองรับความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง