วิษณุซัดคมนาคมขวางต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

20 ต.ค. 2564 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 14:28 น.

รถไฟฟ้าสายสีเขียวระอุม “คมนาคม” เผยครม.ถอดวาระต่อสัมปทานสายสีเขียว สั่งมหาดไทยศึกษาให้ชัด“วิษณุ” แจงสายสีเขียว สะดุดเพราะข้อทักท้วงคมนาคม ฟาก กทม.เตรียมชงรัฐของบหมื่นล้าน ใช้หนี้บีทีเอส แก้ปัญหาขยายสัมปทาน ขณะบีทีเอสเล็ง ฟ้องกทม.กรุงเทพธนาคม ค้างหนี้ 2 หมื่นล้าน

 

ศึกขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เพื่อล้างหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ยังคงร้อนระอุ ระหว่างกระทรวงคมนาคมที่ยังขวางกระทรวงมหาดไทย เมื่อจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งไม่ได้เป็นครั้งแรกที่มีการถอนวาระต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากครม.โดยกระทรวงคมนาคมเป็นแกนหลักในการคัดค้านวาระนี้

รายงานระบุว่าในที่ประชุมครม.ได้แยกถกวาระนี้ในห้องประชุมเล็กข้างห้องประชุมครม. โดยมีนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ปิดห้องหารือกับรมต.จากพรรคภูมิใจไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ล่าสุดได้รับทราบว่าเลขาคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งที่ประชุมครม.ว่ากระทรวงมหาดไทยขอถอดเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุมในครั้งนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ

ขณะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีครม.ไม่พิจารณาต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า มีรายละเอียดไม่เรียบร้อยเล็กน้อยแต่ไม่ยุ่งยากอะไร เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคม ทักท้วงมาแล้วกระทรวงมหาดไทยเพิ่งเห็นเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องตอบตรงนี้ก่อน แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อทักท้วง

เมื่อถามว่า วาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.แล้วดึงออกมาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่การดึงออก เพียงแต่เมื่อถึงวาระดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ขอถอนออกไปเพื่อทำความเห็นเข้ามาใหม่ ส่วนจะเข้าครม.อีกครั้งในครั้งหหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วาระการพิจารณาดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต่อมามีรายงานว่าได้มีการถอนเรื่องออกจากการพิจารณาเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนนำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นเรื่องกระทรวงมหาดไทยดำเนินการว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง สถานีหมอชิต (N8) -สถานีคูคต (N24) จำนวน 16 สถานี และ สถานีแบริ่ง (E14) - สถานีเคหะฯ (E23) จำนวน 9 สถานี ที่ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี

ขณะนี้กทม.ต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลและผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เนื่องจากกทม.จำเป็นต้องของบประมาณจากภาครัฐเพื่อไปใช้หนี้ที่ค้างชำระแก่เอกชน เบื้องต้นในสัปดาห์หน้าทางกทม.จะทำหนังสือเสนอต่อรัฐบาล วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้หนี้ให้กับเอกชน โดยที่ผ่านมากทม.ได้เสนอของบประมาณดังกล่าวจากกทม.แต่สภากทม.ไม่อนุมัติงบประมาณนี้เพื่อนำไปใช้หนี้

“กรณีที่เอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้กับกทม.นั้น ปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างรอศาลฯเรียกไต่สวนตามที่เอกชนยื่นฟ้อง เราอยากใช้หนี้ให้กับเอกชนอยู่แล้ว เนื่องจากเราเป็นหนี้กับเขา เพียงแต่เราต้องของบประมาณจากรัฐบาล เพราะเราไม่มีเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารภายใน 1-2 เดือนนี้”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า ล่าสุดได้ทราบเรื่องในกรณีที่ครม.ถอดวาระการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว  เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยต้องกลับไปทำข้อมูลในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน

“กรณีที่กทม.จะของบประมาณจากภาครัฐเพื่อนำมาใช้หนี้กับบริษัทนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะกทม.ติดหนี้กับเราอยู่ หากกทม.ใช้หนี้ให้เราเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี”

นายสุรพงษ์  กล่าวต่อว่า ขณะที่การเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด นั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมเอกสารและหลักฐานในส่วนของสัญญาค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ส่วนจะเริ่มดำเนินการฟ้องร้องได้เมื่อไรนั้นคงต้องรอดูจากทนายกฎหมายของบริษัทก่อน เนื่องจากเอกสารค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นสัญญาที่ต้องดำเนินการเป็นช่วงๆ 

“ที่ผ่านมาในส่วนของสัญญาจ้างเดินรถ วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท  บริษัทได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปแล้วนั้น คงต้องรอดูความชัดเจนจากกทม.ที่ไปดำเนินการของบประมาณจากภาครัฐด้วย หลังจากนั้นกทม.ต้องหารือกับบริษัทอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร”

สำหรับภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐมีต่อบีทีเอส แบ่งออกเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน  2560 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวนราว 1.2 หมื่นล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท