สั่งตั้งศูนย์จัดการน้ำท่วมลุ่มน้ำท่าจีน เร่งคลี่คลายปัญหาน้ำท่วม

20 ต.ค. 2564 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 11:15 น.

“ประวิตร” สั่งตั้งศูนย์จัดการน้ำท่วมลุ่มน้ำท่าจีน เร่งคลี่คลายปัญหาน้ำท่วม เป็นเอกภาพ เป็นระบบ โดยเร็วที่สุด

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2564  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มอบหมายให้ กอนช. ประสานกรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) ณ โครงการชลประทานนครปฐม สํานักงานชลประทานที่ 13

 

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการประสานการปฎิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดําเนินงานแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน และการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์

 

พร้อมแจ้งเตือนภัยประชาชน รวมทั้งสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางในการลดผลกระทบจากอุทกภัย และกําหนดแนวทางปฎิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือ

 

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการประสานข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความต้องการและความจําเป็น เพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา กอนช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 24/2564 แจ้งเตือนเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้น เขื่อนกระเสียว และไหลไปสมทบกับปริมาณฝนที่ตกบริเวณด้านท้ายเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำท่าจีน 150-200 ลบ.ม./วินาที

 

กรมชลประทานได้บริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยาเพื่อลดปริมาณน้ำหลาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 30-50 ซม. ในช่วงวันที่ 20-27 ต.ค. 64

 

ประกอบกับมีปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่เพิ่มขึ้น มีน้ำหลากจากคลองจะร้า จ.กาญจนบุรี ไหลหลากในอัตรา 120-150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบพื้นที่ทุ่งโพธิ์พระยา ในบริเวณ อ.อู่ทอง และอ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงมากขึ้น

 

“ปัจจุบัน จ.สุพรรณบุรี มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สามชุก อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.เดิมบางนางบวช อ.อู่ทอง อ.สองพี่น้อง อ.หนองหญ้าไซ อ.ดอนเจดีย์ และอ.ศรีประจันต์ ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 - 2 สัปดาห์”

เช่นเดียวกันกับในส่วนของ จ.นครปฐม มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอ โดยน้ำได้ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำที่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และอ.สามพราน และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณ อ.บางเลน และ อ.นครชัยศรี ซึ่งน้ำได้เอ่อท่วมตลาดและบ้านเรือนที่อยู่ใกล้แม่น้ำในหลายพื้นที่

 

 

ประกอบกับน้ำทะเลหนุนที่ทำให้ระดับน้ำยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำต่อไปและมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) ตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย จะช่วยให้การปฎิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำท่าจีนเป็นไปอย่างมีเอกภาพและเป็นระบบ สามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ ให้พี่น้องประชาชนพ้นจากความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด” ดร.สุรสีห์ กล่าว