รายงานข่าวเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้มอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรายจังหวัด โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำหลากอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดตลอดช่วงฤดูฝนนี้
จุดแรกได้ลงพื้นที่ติดตามป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ปริมาตรความจุ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ผังน้ำลุ่มน้ำท่าจีน รหัสโซนทางน้ำหลากริมน้ำ (ลน.) ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานครและสมุทรสาครตอนบนไปลงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากระบบการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่สมบูรณ์ ซึ่งต้องเพิ่มระบบควบคุมน้ำบริเวณคันกั้นน้ำขนานกับชายทะเลและคลองต่าง ๆ ที่มีทางน้ำไหลเชื่อมต่อกับชายทะเล รวมถึงยังสามารถบรรเทาน้ำเสียในคลองต่างๆ โดยการหมุนเวียนน้ำด้วย
นอกจากมาตรการรับมือฝนปัจจุบันแล้ว ยังติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหารุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย และผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำคลองจินดา ต.ท่าช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม และโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณประตูระบายน้ำบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
ทั้งนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ สทนช.เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ซึ่งได้กำหนดมาตรการด้านบริหารจัดการระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว และเสนอให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และองค์กรผู้ใช้น้ำในระดับพื้นที่ ได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติหลักให้สามารถขับเคลื่อนนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนเรียบร้อยแล้ว อาทิ ลุ่มน้ำท่าจีนจะต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบ Real Time ห่างจากประตูระบายน้ำคลองจินดา 600 เมตร และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา/ตำแหน่งที่เหมาะสมในการสร้างและปรับปรุงประตูระบายน้ำ
ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลองให้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดในทะเลบริเวณปากแม่น้ำแม่กลองเพิ่มเติม และเร่งรัดการขึ้นทะเบียนผู้ใช้น้ำ เพื่อเป็นกลไกในการจัดสรรน้ำ และควบคุมการใช้น้ำ ที่สำคัญ สทนช.จะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผนวกเพิ่มเติมกับการศึกษาผังน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมแนวทางการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติอีกด้วย ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. พิจารณาในวันที่ 10 กันยายน 2564 นี้
สำหรับสถานการณ์น้ำเค็มช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาในแม่น้ำท่าจีน พบว่า มีค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนเกินมาตรฐาน 4 ครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ได้มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมความเค็มที่ประตูระบายน้ำคลองจินดา ไม่ให้รุกตัวเข้ามาในพื้นที่การเกษตร มีพื้นที่รับประโยชน์ ประมาณ 16,500 ไร่ จำนวน 1,200 ครัวเรือน โดยเฉพาะสวนกล้วยไม้ในเขตอ.สามพราน จ.นครปฐม และ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไม่ให้รับความเสียหาย โดยมีเกณฑ์ควบคุมค่าความเค็มเพื่อการเกษตรไม่เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร ฃ
ขณะที่แม่น้ำแม่กลอง พบค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐาน 5 ครั้ง มีการบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำบางนกแขวก เพื่อควบคุมน้ำระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองดำเนินสะดวก ในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย และการรุกตัวของน้ำเค็ม โดยเกณฑ์กำหนดค่าความเค็มควบคุมที่สถานีวัดคุณภาพน้ำ ปตร.บางนกแขวก ไม่เกิน 2.0 กรัมต่อลิตร ซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 78,000 ไร่ ประกอบด้วย สวนผลไม้ สวนพืชผัก บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของตลาดน้ำดำเนินสะดวก โดยใช้การมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทุกกิจกรรมผ่านคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน หรือ JMC ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ และตัวแทนเกษตรกร
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า การจัดทำผังน้ำคุณภาพน้ำและผังน้ำน้ำเค็มในลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ติดอ่าวไทย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดกรอบบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน โดยที่ผ่านมา สทนช.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนในโครงการศึกษาจัดทำผังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง ท่าจีน และลุ่มน้ำแม่กลอง อาทิ คณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่
รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจในการกำหนดขอบเขต 4 พื้นที่หลัก ที่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนได้พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ทางน้ำหลากริมแม่น้ำ 2) พื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ 3) พื้นที่น้ำนอง และ 4) พื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนที่หน่วยงานจะนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ ที่ไม่ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางน้ำ กระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำ ที่เป็นอุปสรรคในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำได้ในอนาคต