นายกวิน วัฒนะจรรยา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงาน (Labour Skill & Competency Development Project) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้มาตรฐานสากลเข้าสู่ตลาดแรงงานและช่วยเพิ่มศักยภาพให้แรงงานฝีมือรองรับอุตสาหกรรม ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมอาหารทะเล และอุตสาหกรรมยางพารา สามารถเพิ่มรายได้และโอกาสการมีงานทำมีรายได้สูงขึ้น เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานในพื้นที่ภาคใต้
โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564 ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องเชื่อมเสมือนจริง (Welding Simulator) เพื่อใช้ในการฝึกอบรม จำนวน 2 ชุด 8 เครื่อง มูลค่า 9.4 ล้านบาท และให้การสนับสนุนจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ อาทิ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมสมัยใหม่ (Modern Welding Technology)
สาขาการเชื่อมและตัดโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า (Underwater Metal Arc Cutting and Welding) สาขาช่างเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์ (Product Assembly Welder) สาขาเทคนิคการขับรถลากจูงหรือรถหัวลาก (Technical trailers driving)
และหลักสูตรล่าสุดคือ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่ (Modern Welding and Cutting Technology) รวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 258 คน
นายอุดมพร แก้วสด หัวหน้าฝ่ายช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา อาจารย์ผู้ฝึกอบรม กล่าวว่า การหลักสูตรยกระดับฝีมือสาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่ เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ และจัดขึ้นปี 2564 นี้เป็นปีแรก จากที่เดิมเป็นหลักสูตรการเชื่อมและตัดโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด –19 (covid-19) จึงปรับให้เข้ากับสถานการณ์และความปลอดภัยของผู้อบรม เป็นหลักสูตรยกระดับฝีมือสาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่ ระยะเวลาในการอบรม 30 ชั่วโมง
สำหรับผู้เข้ารับการอบรมจะได้ฝึกปฏิบัติงานเชื่อมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีการเชื่อมแบบ CMT การเชื่อม MIG/MAG การเชื่อมพลาสม่า การเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ การเชื่อมระบบราง การเชื่อมใต้น้ำ การเชื่อมต่อใบเลื่อยสายพาน การเชื่อมเลเซอร์ การเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ การตัดด้วยพลาสม่าและเลเซอร์ เป็นต้น มีผู้ผ่านการอบรมในปีนี้ จำนวน 16 คน เป็นแรงงานในสถานประกอบกิจการ วิศวกร หัวหน้างาน ช่างเทคนิค พนักงานหรือผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาแล้วด้านงานเชื่อมหรืองานที่เกี่ยวข้อง ได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพช่างเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่ ซึ่งขาดแคลนแรงงานที่เชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการในตลาดอุตสาหกรรม