รายงานข่าวจากรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง พื้นที่ทั้งหมด 120 ไร่ มูลค่าที่ดินราว 14,400 ล้านบาท นั้น พบว่าสถานีหัวลำโพงตามกฎหมายผังเมืองในปัจจุบันเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน คือที่ดินประเภทหน่วยงานราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ไม่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ รฟท. จึงจะเร่งทำการปรับผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม เพื่อให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์และจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในการพัฒนาโครงการ โดยบริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. จะนำเสนอแนวทางดังกล่าวภายในเดือนพ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางแบบการพัฒนาเสมือนจริง ภายในเดือนธ.ค.2564
“ที่ปรึกษาเสนอให้มีการพัฒนานำร่องก่อนในระยะสั้นช่วง 3-5ปี (64-68) เฉพาะโซน ABและC ก่อน แต่ กระทรวงคมนาคมมีข้อท้วงติง โดยขอให้เอสอาร์ทีกลับจัดทำแผนการพัฒนาทั้ง5โซนพร้อมกันด้วย เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า เพราะกระทรวงมองว่าหากเปิดประมูลที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวจะจูงใจเอกชนให้เข้ามาร่วมทุนมากกว่า การซอยแปลงย่อยประมูล ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ขอให้เอสอาร์ที ปรับแผนพัฒนาที่ดินโซน D ให้เป็นพื้นที่ในแนวสูงเหมือนกับมาบุญครอง เป็นคอมมูนตี้มอล ตลาด เพื่อให้มีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า และสร้างรายได้สูงสุดให้กับ รฟท.”
สำหรับพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนานั้น ประกอบด้วย 1.พื้นที่ถนนทางเข้า ออกและลานจอดรถบริเวณถนนพระราม4 จำนวน 16 ไร่ มูลค่า1,920 ล้านบาท 2.อาคารสถานีกรุงเทพหัวลำโพง 13 ไร่ มูลค่า 1,560 ล้านบาท 3.ชานชลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่ มูลค่า 5,880 ล้านบาท 4.โรงซ่อมรถดีเซลราง และรถโดยสาร 22 ไร่ มูลค่า 2,640 ล้านบาท 5.อาคารสำนักงานรฟท ตึกคลังพัสดุ 20ไร่ มูลค่า 2,400ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 14,400 ล้านบาท
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้จ้างที่ปรึกษาจัดทำแอคชั่นแพลนในการพัฒนาที่ดินย่านหัวลำโพง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน คือ โซน A จำนวน 16 ไร่บริเวณอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะจัดทำเป็น พื้นที่สาธารณะประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบโซน B จำนวน 13 ไร่ ปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ โซน C จำนวน 22ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร จะพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบปิด และเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม และจะทำการปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ใหเป็น water front Promenade เลียบครองผดุงกรุงเกษม ผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวโดยรอบโครงการ โดยดูต้นแบบจากเวนิส อิตาลี
โซน D จำนวน 49ไร่ ปัจจุบัน คือพื้นที่ชานชลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งระบบการสัญจรและพื้นที่ฝั่งเมือง มีแผนพัฒนาได้ในหลายรูปแบบ โดยจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบมิกซ์ยูส lifestyle mixed-use อาทิโรงแรม อาคารสำนักงาน รวมทั้งที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่จัดแสดงงาน อื่นๆ โดยยึดต้นแบบ โตเกียว มิดทาวน์
ทั้งนี้โซน E จำนวน 20ไร่ บริเวณอาคารสำนักงานรฟท ตึกคลังพัสดุเดิม จะพัฒนา เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบ Urban mixed-use อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม รวมถึงพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมต่อรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม กำหนดจุด node สำหรับกิจกรรมพิเศษหรือสวนสาธารณะ ซึ่งจะมีระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตรตลอดแนวคลองและยังได้ศึกษาชุมชนต่างๆริมน้ำ โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน รวมทั้งจะมีการพัฒนาจักรยานริมทางรถไฟ