นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนจากกรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีมติให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีแนวทางการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนอันอาจเกิดขึ้น ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว จึงขอให้ทางบริษัท BEM ได้พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชนโดยการออกมาตรการในการส่งเสริมการตลาดหรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นี้ด้วย เนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอันเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ
ขณะเดียวกัน ผู้แทนบริษัท BEM มีมาตรการส่งเสริมทางการตลาด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงดังกล่าว เบื้องต้น จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าวโดยออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด หรือ Promotion ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทางในอัตราราคาเดิมที่ใช้อยู่ เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธันวาคม 2564 – 15 ธันวาคม 2565) โดยจะแจ้งมายัง กทพ. เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงดังกล่าวต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบนทางพิเศษของ กทพ. ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้ ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปให้ กทพ. จัดทำ action plan ให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนการหารือถึงการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนให้ได้รับความสะดวก โดยทางบริษัท BEM ยินดีให้ความสนับนสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรก ได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป