ด่วนที่สุด มท.1 สั่ง 55 จังหวัด รับมือภัยหนาว

03 พ.ย. 2564 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 16:58 น.

“มท.1” สั่งการ ด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 55 จังหวัด รับมือภัยหนาว หลัง “กรมอุตุนิยมวิทยา” คาดหมาย อากาศจะหนาวที่สุด กลางเดือนธันวาคม 2564 ถึง ปลายเดือน มกราคม 2565 สำรวจ ปรับปรุงข้อมูล "กลุ่มเปาะบาง" ให้จัดส่งแผนเผชิญเหตุ ภายใน 15 พ.ย.นี้ มีจังหวัดไหนบ้าง เช็กที่นี่

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัด เรื่อง การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากอากาศหนาว ปี พ.ศ. 2564-2565

 

กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  2564  และจากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พบว่าช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นที่สุด ช่วงกลางเดือนธันวาคม  2564 ถึงปลายเดือนมกราคม  2565  โดยคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่จังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาว รวม 55  จังหวัด

 

สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วยเพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากอากาศหนาว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อม 55 จังหวัด เสี่ยงภัยหนาว ให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว

 

ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ติดตามสภาวะอากาศ การคาดหมายพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาวหรือหนาวจัด การแจ้งเตือน และการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวในพื้นที่

 

เปิดรายชื่อ 55 จังหวัด รับมือภัยหนาว

 

2.ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุของจังหวัด โดยเฉพาะการสำรวจปรับปรุงข้อมูลบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์และผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการปรับปรุงข้อมูลวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงานที่มีความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากอากาศหนาวให้เป็นปัจจุบัน และจัดส่งแผนเผชิญเหตุให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ภายในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

 

3.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุร่วมกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การกำหนดแนวทางการจัดเตรียมเครื่องกันหนาว ตลอดจนขี้แจงระเบียบ/หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง

4.สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวเช่น การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) การไม่ผิงไฟในที่อับอากาศเพราะจะทำให้หมดสติและขาดอากาศหายใจ เป็นต้น

 

5.พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยงานด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว และหากมีการเสนอข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาว ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลมายังกระทรวงมหาดไทยผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทันที

 

6. เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจะมีสภาพอากาศแห้ง และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็น จึงเน้นย้ำให้จังหวัดกำหนดมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

  • การป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ดับเพลิงรถบรรทุกน้ำ และอุปกรณ์ดับเพลิงให้มีความพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครและประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ชุมชน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว และให้รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรใช้วิธีการไถกลบ แทนการเผาตอซังและวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดมลพิษในอากาศและปัญหาหมอกควัน

 

  • การป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการสัญจร อาทิ กรณีถนนลื่นและสภาพทัศนวิสัยต่ำจากหมอกหนา โดยให้ประสานหน่วยงานของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณทางแยกและจุดเสี่ยง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

 

  • ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีประชาชนเดินทางไปจำนวนมากให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid - 19)อย่างเคร่งครัด ขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการ ดังนี้

 

การเผชิญเหตุและการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยจากอากาศหนาว  ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุจังหวัด พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยทหาร ภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ และประชาชนจิตอาสา เพื่อบูรณาการการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ตลอดจนแบ่งพื้นที่ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวให้ชัดเจน

 

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาว ขอให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาว และประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นสำคัญ

 

ตลอดจนประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการ องค์กรสาธารณกุศล และภูาคเอกชน เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวเป็นไปอย่างบูรณาการ ทั่วถึง และไม่ซ้ำซ้อนทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ภัยจากอากาศหนาวขึ้นในพื้นที่ ให้รายงานกระทรวงมหาดไทยผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทันที โดยให้ร้ายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

 

เอกสารแนบ

ข้อสั่่งการภัยหนาว

 

รับมือภัยหนาว