ตรึงดีเซล 30 บาท พลังงานเล็งลดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯเหลือ 5 สตางค์

03 พ.ย. 2564 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 16:29 น.

กระทรวงพลังงานเตรียมลดเก็บเงินเข้าสู่กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเหลือ 5 สตางค์ ช่วยตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนเงินกู้กองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้านบาทจะกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง "เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 5 พฤศจิกายน 64 จะมีการเสนอลดการจัดเก็บเงินน้ำมันเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจาก 10 สตางค์ เหลือ 5 สตางค์ เป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อป็นส่วนหนึ่งในมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้น กระทรวงพลังงานจะมีหน้าที่ติดตามดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมในการขายปลีกน้ำมัน โดยราคาโครงสร้างน้ำมันที่อ้างอิงจะมี 2 ส่วน คือ 1.ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และ 2.ราคาขายปลีก

นอกจากนี้ จะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยตรึงราคาน้ำมันหากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง ต่อมาปี 2562 ได้ยกเลิกกองทุนเดิมออกมาเป็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อปี 2562 สำหรับบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือ เป็นกลไกในการช่วยลดผลกระทบกับประชาชน โดยรัฐบาลจะใช้เงินกองทุนเข้าไปจ่ายค่าชดเชยบางส่วนให้กับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคาในส่วนนี้ไว้ เช่นสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการตรึงราคาไว้จนเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ไม่ต้องชดเชยราคาขายปลีกเงินที่เคยจ่ายเพื่อการชดเชยลดลงไป ดังนั้น ในภาวะปกติจึงมีการเก็บเงินเข้าไปไว้ในกองทุนสำหรับเป็นทุนในการรับมือภาวะน้ำมันแพงรอบใหม่

เก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานเหลือ 5 สตางค์
"ปัจจุบันมีการเก็บเงินเข้ากองทุน จากน้ำมันเบนซินไม่ผสมเข้ากองทุน แล้วนำมาชดเชยน้ำมันเบนซิน พวก E20, E85 จนเหลือ 0 บาท ในส่วนของน้ำมันดีเซลกองทุนนำเงินมาชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ เพื่อตรึงราคาน้ำมัน B7, B10 อยู่ที่ 2 บาท ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และใช้เงินตากกองทุนอีก 4 บาท เพื่อตรึงราคา B20 ที่มีรถบรรทุก กับรถปิคอัพใช้อยู่ ดังนั้น ตอนนี้กองทุนจึงมีแต่รายจ่าย นอกจากจะตรึงราคาน้ำมันแล้ว กองทุนยังเข้าไปตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 รอบแรก (ปี 2563) จนกระทั่งปัจจุบัน ส่งผลให้เงินกองทุนที่มีอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท ในปี 2563 ตอนนี้เหลือเพียง 7,144 ล้านบาท" 
ล่าสุด วานนี้ (2 พ.ย.)กบน.มีการอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเติมอีก 20,000 ล้านบาท บวกกับฐานะกองทุนที่เหลืออยู่ 7,144 ล้านบาท โดยรวมทั้งหมดจะตรึงราคาได้ถึงเดือนเมษายน 2565 บนสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนการกู้เงินของกองทุนนั่นในเบื้องต้นจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ เข้ามาเป็นช่วงๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ และคงไม่ใช้วิธีการออกบอนด์ เนื่องจากการระดมทุนดังกล่าวต้องใช้เวลา
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน โดยมีการจัดหาน้ำมันดิบประมาณ 965,000 บาร์เรลต่อวัน จากตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ รัฐเซีย เป็นต้น ถึง 89% และผลิตเองได้เพียง 11% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น เมื่อมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันในประเทศจึงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันใตตลาดโลก รวมถึงตลาดภูมิภาคเอเซีย ตลาดการค้าน้ำมันถือเป็นตลาดเสรี เนื่องจากภาครัฐไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา
สำหรับในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ช่วงโควิด-19 ระบาดแรกๆ เป็นช่วงที่ทั่วโลกตกใจกับโควิด-19 (covid-19) ราคาน้ำมันโลกจึงตกไปต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พอมากลางปี 2564 เมื่อเริ่มมีวัคซีนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย มีการเดินทางมากขึ้น ความต้องการด้านพลังงานจึงมีสูงขึ้น ประกอบกับกระแสโลกร้อนเป็นเทรนด์ขึ้นมา จึงทำให้กลุ่มโอเปกประกาศไม่เพิ่มกำลังการผลิต ลดจำนวนการผลิตน้อยกว่าความต้องการ ราคาน้ำมันตลาดโลกจึงดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา