ตามที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้เรื่องข้าวในสภานั้น ขอเรียนให้ทราบว่าระหว่างที่ท่านพูดเป็นเวลาเดียวกันกับที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำลังทำ คือทำหน้าที่นำเสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรีโดยทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งช่วยชาวนาและประชาชน
4 พฤศจิกายน 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีกำลังทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อยกระดับราคาข้าวซึ่งเกิดการแข่งขันค่อนข้างสูงมากขณะที่ราคาพืชเกษตรชนิดอื่นเราสามารถยกระดับราคาได้ทุกชนิด แต่ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่แข่งขันกันหลายประเทศ
แต่รัฐบาลโดยนายจุรินทร์มี “โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” ซึ่งช่วยเกษตรกรมา 2 ปี เกือบ 5 ล้านครัวเรือน โดยเกษตรกรได้ส่วนต่างจากราคาข้าวที่ตกต่ำนั้น ผ่านบัญชีของเกษตรกรเองปีนี้ก็เช่นกัน ขณะเดียวกันก็มีมาตรการเสริมที่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องๆ เพื่อที่นอกจากช่วยเรื่องส่วนต่างที่จ่ายชดเชยให้ชาวนาแล้วยังช่วยด้านอื่นเสริมไปด้วย
นางมัลลิกา บอกว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดการจ่ายชดเชยตามโครงการประกันรายได้ข้าว ปีการผลิต 2564/65 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มติที่ประชุมเห็นชอบให้คงหลักการการกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ แหล่งที่มาของราคา และการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2
โดยการคิดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะเฉลี่ยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกที่กรมการค้าภายในสืบ ราคาข้าวเปลือกจากสมาคมโรงสี และราคาข้าวเปลือกที่คำนวณจากราคาข้าวสาร ซึ่งการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะใช้ราคารายวันย้อนหลัง 7 วัน จากทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ย เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ได้เป็นปัจจุบัน และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2564 โดยได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าวแต่ละชนิด ดังนี้
• ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท
• ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท
• ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท
• ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.38 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท
• ข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท
ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ข้าว ได้กำหนดราคาประกันที่ความชื้นที่ 15% เรียกข้าวแห้ง แต่ปัจจุบันเกษตรกรจะเกี่ยวสดและนำไปจำหน่าย ซึ่งจะมีความชื้นสูง ประมาณ 28% -30% เรียกข้าวเปียก เมื่อหักความชื้นตามน้ำหนักไปแล้วก็จะได้ราคาที่ใกล้เคียงกัน เช่น ข้าวเปลือกเจ้า เกษตรกรจำหน่ายได้ 6,200-6,400 บาท/ตัน เมื่อหักความชื้นแล้วก็จะเป็นข้าวแห้งที่ประมาณ 8,000-8,100 บาท/ตัน
สำหรับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 2 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2564) และงวดที่ 3 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564) คณะอนุกรรมการฯรายงานรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติแล้ว กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ และเสียงตามสายในพื้นที่ให้เกษตรกรได้รับทราบโดยทั่วกันต่อไป อย่างเช่นทุกครั้งที่ทำมา
สำหรับการโอนเงินส่วนต่างงวดแรกตามโครงการประกันรายได้ปี 2564/65 ธ.ก.ส. จะดำเนินการได้ภายหลังจาก ครม. ได้รับทราบผลการหารือเกี่ยวกับอัตราต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดให้ทำการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และจะได้นำเสนอในการประชุม ครม. เพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้านี้
ซึ่งกำลังทำงานกันอยู่ ต่างก็ทำงานแข่งกับเวลาเช่นกัน และเรียนให้ท่านทราบเพื่อแจ้งประชาชนด้วยว่าการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ในปีที่ 3 หรือจ่ายส่วนต่างนั้นก็คงหลักการเช่นเดิม ที่ชาวนาท่านพอใจโดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2
" ส่วนการยกระดับราคาข้าวเราเตรียมประกาศยุทธศาสตร์ข้าวในวันศุกร์ ที่ 5 พ.ย. 2564 นี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านจุรินทร์ นำเอง พร้อมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนอกจากนั้นได้สั่งการให้ทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำงานเชิงรุก บุกตลาดส่งออกรายประเทศ และได้กำชับกรมการค้าต่างประเทศ ติดตามสัญญาซื้อข้าวจากประเทศจีนอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นยังประสานผ่านท่านทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อประสานงานเร่งรัดสัญญาเดิมนี้ที่ยังคงค้างอยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อระบายข้าวที่มีในสต๊อกออกไปให้มากและเร็วที่สุด " ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว