"GPSC" ผนึก สพฐ. ดึงระบบ S.T.E.M พัฒนาหลักสูตรสู่ห้องเรียนวิถีใหม่

08 พ.ย. 2564 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2564 | 17:10 น.

GPSC ผนึก สพฐ. ดึงระบบ S.T.E.M พัฒนาหลักสูตรสู่ห้องเรียนวิถีใหม่ เสริมศักยภาพครูชั้นประถม 16 แห่ง ผ่านโครงการการพัฒนาครู สู่การเรียนรู้วิถีใหม่ มุ่งยกระดับคุณภาพทางการศึกษาไทยแนวใหม่ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ได้จัดกิจกรรมอบรมโครงการการพัฒนาครู..สู่การเรียนรู้วิถีใหม่ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม Zoom

ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกให้กับ โรงเรียนชั้นประถมศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 15 แห่ง และ จำนวน 1 แห่ง ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ GPSC ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนายกระดับมาตรฐานครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ ผ่านการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ 

และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม ( S.T.E.M ) เป็นหลักสูตรที่ได้รับการส่งเสริมและรับรองจาก สพฐ. มาปรับใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนผ่านสื่อการเรียนรู้แทนการเรียนการสอนในห้องเรียนรูปแบบเดิม โดย GPSC ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะของเยาวชนที่มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้เป็นสื่อกลางการเรียนการสอนแบบใหม่

ดึงระบบ S.T.E.M พัฒนาหลักสูตรสู่ห้องเรียนวิถีใหม่

โดยนำแนวทางการเรียนการสอนแบบ S.T.E.M มาบูรณาการผสมผสานกับหลักสูตรการเรียนการสอนเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยเน้นให้ครูผู้สอนเน้นถ่ายทอดในเชิงการปฎิบัติมากกว่าทฤษฎี ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นการวิเคราะห์ 

และทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาจากกิจกรรมที่กำหนดขึ้น พร้อมกับการสอดแทรกความสนุกสนานที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของนักเรียน ที่สามารถเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมครูที่เข้าร่วมในครั้งนี้ จะได้รับการฝึกทักษะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการออกแบบกิจกรรม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะวิชาชีพ ทักษะการเป็นผู้นำ รวมถึงการสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับตนเองและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงการประเมินหลักสูตรที่สามารถนำไปพัฒนากระบวนการสอนในหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน 
โดยให้สอดคล้องกับหลักสูตรของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการพัฒนากำลังคนที่จะช่วยยกระดับการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งครูที่เข้าร่วมฝึกอบรมภายใต้โครงการดังกล่าว ยังสามารถนำผลการอบรมรายชั่วโมงไปจัดทำรายงานการประเมินผลเพื่อการชี้วัดในการเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ กำหนด ด้วยเช่นกัน