กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ตจี้จังหวัด ทวงครม.สัญจรเยียวยาประกันสังคม930ล้าน

09 พ.ย. 2564 | 06:16 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 17:17 น.

รายย่อยภูเก็ตยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ให้จังหวัดเสนอครม.สัญจรที่กระบี่ ขอเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม จนเฉียบพลัน รวม 930 ล้านบาท อ้างเสียสิทธิ์จากประกาศเป็น"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ทั้งที่ยอดคนติดเชื้อเข้าเกณฑ์สีแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้  นายวงศกร ชนะกิจ ในนามประธานกลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต  ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  เรียกร้องให้จังหวัดภูเก็ตทวงถาม การขอรับการเยียวยา ม.33 39 และ40 ให้ลูกจ้าง-ผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ต ในโอกาสการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ วันที่ 15-16 พ.ย.นี้ เพื่อเร่งรัดให้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมโดยเร็ว

หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า ลูกจ้างและผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมในจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนรวมกันถึง 186,069 คน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการเยียวยา โดยตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตประกาศเป็น Phuket Sandbox และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว

กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ตยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯขอให้เสนอครม.สัญจรที่กระบี่ อนุมัติเยียวยาระบบประกันสังคมภูเก็ต 930 ล้าน

 

กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ตยื่นหนังสือผู้ว่าฯให้เสนอครม.สัญจรเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างประกันสังคมในภูเก็ต ต่อมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง แต่รัฐบาลเลือกที่จะอุ้ม Phuket Sandbox จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการเยียวยาในระบบประกันสังคม 

อีกทั้งข้อเท็จจริงโครงการ Phuket Sandbox  ให้ประโยชน์ในภาคเจ้าของกิจการ เช่น กิจการโรงแรม   แต่ในทางตรงกันข้าม ผลจากการที่ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้ภาคแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตต้องเสียสิทธิ์ ไม่ได้รับเงินเยียวยา ผลกระทบครั้งนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคธุรกิจ และภาคแรงงาน 

หนังสือผู้ว่าฯภูเก็ตถึงเลขาฯสภาพัฒน์ ขอให้พิจารณาเยียวยาประกันสังคมเนื่องจากคนภูเก็ตจนเฉียบพลัน

กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต จึงได้เสนอให้จังหวัดภูเก็ต นำปัญหาดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ กลางเดือนพ.ย.2564 นี้  เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น และเร่งรัดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม

เครือข่ายผู้ประกอบการรายย่อย(เอสเอ็มอี.) และลูกจ้าง-พนักงานภูเก็ต ได้เรียกร้องให้เยียวยาผู้อยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ม.33 ม.39 และม.40)  มาก่อนหน้านี้

และเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ.2564 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯภูเก็ต ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒน์ ขอให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างประกันสังคมของภูเก็ต ซึ่งมีจำนวน 186,096 คน เป็นวงเงินรวม 930.48 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงกลายเป็นคนจนเฉียบพลัน จากเดิมคนภูเก็ตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 403,534 บาท/ปี เมื่อปี 2562  เมื่อเกิดโควิด-19 รายได้เหลือเพียงเดือนละ 1,963 บาทต่อเดือน 

จากนั้นเมื่อ 12 ต.ค. 2564 ได้ทำหนังสือติดตามทวงถามอีกครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า 

หนังสือทวงเยียวยาประกันสังคมภูเก็ต