ครม.เคาะ "กิจการร่วมค้า GPC" ลุย "ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3" พื้นที่ EEC

09 พ.ย. 2564 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 15:11 น.

ครม.มีมติรับทราบผลการคัดเอกชน "กลุ่ม กิจการร่วมค้า GPC " เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F

วันที่ 9 พ.ย. 64 นางสาวไตรสุรีย์ ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการคัดเลือกเอกชน "กลุ่ม กิจการร่วมค้า GPC " เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F 

โดยมติดังกล่าว เป็นการรับทราบ ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นชอบแล้ว ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC  

ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินของรัฐเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อTEU (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวที่ผ่านการประเมิน หากดำเนินการคัดเลือกใหม่อาจส่งผลให้การเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F ล่าช้าประมาณ 2 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การที่ปริมาณตู้สินค้าจะเกินขีดความสามารถในการรองรับในปี 2568 รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)  ซึ่งส่งผลต่อประมาณการตู้สินค้าในปัจจุบัน ซึ่งกพอ.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว

ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในการเป็นประตูการค้า การลงทุนของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ "กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC" เป็นการร่วมทุนกันของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "GULF"  บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หรือ "PTT Tank" และ บริษัท ไชนาร์ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด โดยถือหุ้นในสัดส่วน 40% 30% และ 30% ตามลำดับ