นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีการเพิ่มมูลค่าให้ก้าวล้ำแนวโน้มทางการค้าดังกล่าว ภารกิจสำคัญของกระทรวงคือการเร่งสร้างและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล “BCG : Bio Circular Green Economy” หรือ
เพื่อเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพีประเทศ เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามข้อกีดกันทางการค้าในตลาดโลก เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ
ทั้งนี้กรมฯมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงและตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาด (ตลาดนำการผลิต) โดยเล็งเห็นว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกทั้งในระดับนโยบาย และในกลุ่มผู้บริโภค คือ Global warming / การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงในบริบทการค้ามากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดโลกกำลังจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลบางประเทศได้นำประเด็นสากลนี้มากำหนดเป็นนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าบ้างแล้ว จนอาจกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้า ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันท่วงทีเพื่อแข่งขันได้ดีในอนาคต ไม่ว่าจะในขั้นตอนการแสวงหาวัตถุดิบที่ไม่ทำลายธรรมชาติ กระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการขนส่งคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
“เพื่อขับเคลื่อนแผนงานด้าน BCG อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพาณิชย์ได้รับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 50 แบรนด์ในสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ใช้โมเดลธุรกิจ BCG ในการเพิ่มมูลค่า และมีสินค้าที่น่าสนใจตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของยุค New Normal โดยมีการเฟ้นหาตัวจริงอย่างเข้มข้น พิจารณาการใช้วัตถุดิบจากเศษเหลือ การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบฐานชีวภาพ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการออกแบบให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นต้น ได้ผลลัพทธ์ออกมาเป็น Hero list กลุ่มนำร่องกลุ่มแรกที่กระทรวงวางแผนจะพาไปเจาะตลาดต่างประเทศและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทั่วโลก สร้างภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีให้กับประเทศ”
สำหรับเป้าหมายในปีหน้า มุ่งหวังจะสร้างผู้ประกอบการ BCG 500 ราย ภายในปี 2565 และเพิ่มสัดส่วนรายได้ของประเทศจากกลุ่ม BCG มากขึ้น สอดคล้องตามเป้าหมายของวาระแห่งชาติที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนมูลค่า GDP ของ BCG จาก 21% เป็น 24% ใน 5 ปี (จาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท) โดยในปี 2565 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะบุกเจาะตลาดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือเป็นเวทีที่มีการหยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อม อาทิ ตลาดยุโรป เน้นสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ตลาดออสเตรเลีย และตลาดเกาหลี เป็นต้น
โดยตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปลายปีหน้า กรมจะผลักดันแคมเปญ “BCG : Be the ChanGe” ซึ่งเป็นการเล่นคำว่า BCG เชิญชวนให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า ไม่ฝากความหวังไว้กับใคร แต่เริ่มได้ที่ตัวคุณ! โดยมีเป้าหมายที่จะสื่อสารกระตุ้นการมีส่วนร่วมทั้งในประเทศ และเผยแพร่ไปในต่างประเทศผ่านทูตพาณิชย์ ตลอดจนองค์กรพันธมิตรต่างๆ ของกรม โดยแคมเปญ BCG : Be the ChanGe เป็นกลยุทธ์ในการนำเสนอ “Bio Circular Green Economy” ไปยังผู้ซื้อผู้บริโภคชาวต่างชาติด้วยมุมมองการเชิญชวนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกดีขึ้น โดยกรมได้ริเริ่มเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เข้าใจง่ายขึ้น และเข้าถึงได้ทุกคน เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ในเวทีสากลและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย