“สายสีชมพู-เหลือง”ดีเลย์ ติดหล่มส่งมอบพื้นที่ล่าช้า

12 พ.ย. 2564 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2564 | 17:59 น.

“บีทีเอส” เผยคืบหน้าสายสีชมพูขยายเวลาก่อสร้าง 290 วัน เร่งเข้าพื้นที่ เบรกบริษัทผู้ผลิตส่งมอบขบวนรถ เหตุก่อสร้างล่าช้า ขณะที่คืบหน้าสายสีเหลือง เลื่อนเปิดให้บริการกลางปี 65 หลังติดเจรจาส่งมอบพื้นที่

ปัจจุบัน “บีทีเอส” ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ให้เสร็จตามแผนเพื่อรองรับการเปิดประเทศและเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) ว่าปัจจุบันบริษัทสามารถกลับมาดำเนินการก่อสร้างได้ตามปกติ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า ต้องเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปปลายปี 2565 เป็นบางช่วง เบื้องต้นได้เร่งรัดผู้รับเหมาดำเนินการโดยเร็วเนื่องจากภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ เชื่อว่าประชาชนผู้ใช้บริการมีความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทฯและประเทศ

 

 

ขณะเดียวกันมติคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขยายเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ออกไป 290 วัน จากปัญหาการเข้าพื้นที่ เพื่อก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 2 จุดหลัก จากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าของโครงการจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตน์ (PK26) ตามสัญญาหากรฟม.มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน จะดำเนินการขยายเวลาให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขยายเวลา เพราะที่ผ่านมาได้มีการขยายเวลาการก่อสร้างโครงการฯ เช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับโครงการ Floodway ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีทีโอที (PK13) นั้น ยืนยันว่าไม่ได้ติดปัญหาอุปสรรคใดๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นช่วงจุดตัดบริเวณสถานีหลักสี่ ซึ่งมีการออกแบบมาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยการก่อสร้างในช่วงนี้จะดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบทางลอดใต้โครงการ Floodway ทำให้สถานีหลักสี่แตกต่างจากสถานีอื่นๆ โดยสถานีขายตั๋วจะตั้งอยู่บนพื้นดิน

 

 

“ปัจจุบันรฟม.ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทแล้วเสร็จ โดยการส่งมอบพื้นที่สถานีสุดท้าย คือ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งสถานีจึงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการด้านผลกระทบให้ครบถ้วน ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว”

 

 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านการส่งมอบขบวนรถของโครงการฯ ปัจจุบันมีการส่งมอบขบวนรถเกือบครบแล้ว แต่ทางบริษัทได้ประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตยังไม่ต้องส่งขบวนรถไฟมาให้ เนื่องจากพื้นที่การก่อสร้างยังไม่พร้อม หากมีการส่งขบวนรถทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างได้ เบื้องต้นได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตส่งมอบขบวนรถตามแผนการก่อสร้างเพื่อให้บริษัทสามารถนำมาใช้ทดสอบระบบได้ คาดว่าจะส่งมอบขบวนรถครบทั้งหมด 42 ขบวน ในช่วงกลางปี 2565

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท นั้น ขณะนี้รอรฟม.อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นบริษัทจะดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างทันที เพราะได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว

 

 

 

 นายสุรงพงษ์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าบริเวณสถานีรัชดา-ลาดพร้าว เนื่องจากมีพื้นที่บริเวณใกล้เคียงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีผู้เช่าในพื้นที่บริเวณนั้น เบื้องต้นต้องดำเนินการเจรจากับผู้เช่ารายเดิม ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้รฟม.ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ เกือบครบ 100% แล้ว คาดว่าเปิดให้บริการภายในกลางปี 2565 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2564 หรือมกราคม 2565

 

 

 

“ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร (กม.)ซึ่งเป็นข้อเสนอของทางบริษัทฯ ในการเพิ่มโอกาสการเดินทางให้แก่ประชาชนนั้น ทางบริษัทยังคงยืนยันคำตอบเดิม หากให้บริษัทฯเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยค่าเสียหาย ในกรณีที่อีกบริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการเปิดให้บริการของโครงการฯ เราคงทำไม่ได้ ทางรฟม.คงต้องเป็นผู้ ตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการอย่างไร”