ทั้งนี้สถาบันหลักภาคเอกชนทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ที่เป็นตัวจริงเสียงจริงของภาคการส่งออกต่างฟันธงว่าถึงสิ้นปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ 12-14% (จากปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 231,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาท 7.18 ล้านล้านบาท) โดยจะมีมูลค่าการส่งออก 259,430- 264,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุบสถิติเป็นตัวเลขมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ประเทศมีการส่งออกมา
สำหรับความเป็นไปได้มากที่สุดของการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 12% วิเคราะห์ได้จากสถิติการส่งออกช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 ไทยส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หาก 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ไทยสามารถส่งออกได้เฉลี่ยใกล้เคียงกันที่เดือนละ 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯก็จะทำได้ตามคาดการณ์ขยายตัวที่ 12%
อย่างไรก็ดีไส้ในของการส่งออกไทยในปีที่ผ่านมารวมถึงในปีนี้ จากจำนวนผู้ส่งออกทั้งสิ้นกว่า 3.6 หมื่นราย ในจำนวนนี้สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกกว่า 80% อยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าสินค้าสูง ขณะที่บริษัทของคนไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง นํ้าตาล ผัก ผลไม้, เกษตรอุตสาหกรรม เช่น อาหารแปรรูป รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ที่กำลังเร่งสปีดในการสร้างมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังยากที่จะเบียดขึ้นมาใกล้เคียงกับยอดส่งออกของบริษัทข้ามชาติได้
ที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกของไทยที่โชว์ให้ได้ปลื้มกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายืมจมูกต่างชาติหายใจมาช้านาน ดังนั้นหากไทยไม่เร่งการวิจัยพัฒนา ยกระดับนวัตกรรม เทคโนโลยีในการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้เป็นของตัวเอง อนาคตโครงสร้างมูลค่าการส่งออกของไทยก็จะยังไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก
อย่างไรก็ตามชีวิตยังต้องดำเนินต่อ ส่งออกไทยก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้เตรียมนำเสนอสมุดปกขาว (White Paper : Post COVID-19 : Rehabilitation Plan for Export Sector) โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ธ.ค.2564 นี้
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. ระบุว่า สมุดปกขาวนี้จะมีประมาณ 80-100 หน้า เนื้อหาสำคัญ อาทิ 1. การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก (PESTEL Model) 2.ความท้าทายระดับมหภาคต่อการส่งออกไทย ได้แก่ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกไทย, ด้านการค้าระหว่างประเทศและการเจรจาการค้าเสรี, ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ด้านการไปสู่ Digital Trading, ด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน, ด้านแรงงานและการฝึกอบรม
3.ความท้าทายและข้อเสนอแนะจากรายอุตสาหกรรม ได้แก่ ยางพารา, อุตสาหกรรมอาหาร, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์
และ 4. สรุปข้อเสนอแนะที่สำคัญให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งลงมือปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน เช่น เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ เช่น CPTPP, EU เป็นต้น, ส่งเสริมให้ไทยเป็น Transshipment Port, การขยายเวลาปฏิบัติ งานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรเป็น 24 ชม. 7 วัน, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ, ส่งเสริมการลงทุน วิจัย พัฒนา ตามกรอบ BCG และ SDGs และปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้รองรับ WFH และ Past Time เป็นต้น
ทั้งนี้สมุดปกขาวมีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพการส่งออกไทยให้ขยายตัว อย่างยั่งยืนไม่ตํ่ากว่า 5% ต่อปี ท่ามกลางสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทั่วโลก ต่างเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ ส่งออกไทยจากนี้และในอนาคตจะยังเติบโตได้ดีแค่ไหน สมุดปกขาวนี้จะได้รับการตอบรับและเดินหน้าตามข้อเสนอหรือไม่ น่าลุ้นและน่าติดตามอย่างยิ่ง
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3730 วันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2564