รัฐบาลได้เริ่มนับ 1 เปิดประเทศแล้วตั้งแต่ 1 พ.ย.2564 ท่ามกลางทุกฝ่ายยังลุ้นระทึกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 จะเอาอยู่หรือไม่ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นคืนชีพได้มากน้อยเพียงใด ล่าสุดผู้นำภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสรท.มีข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศ ประกอบด้วย 1.การขยายการจ่ายเงินอุดหนุนนายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อราย สำหรับการจ้างงานในเอสเอ็มอี จาก 3 เดือน (พ.ย.64-ม.ค.65) เป็น 6 เดือน 2.การอุดหนุนด้านพลังงานและค่าขนส่งให้ผู้ประกอบการผลพวงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 3.สนับสนุนกิจกรรมการขยายตลาดต่างประเทศ เช่น SME Proactive 4.สนับสนุนการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ upskill และ reskill 5.สนับสนุนการปรับปรุงโรงงานเพื่อรองรับ Automation และ Green Factory
6.เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้กลับมาฟื้นตัว รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ควรมีการขยายโครงการจับคู่กู้เงิน 7.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ต้องดำเนินการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ต่อไปอีกซักระยะ 9.รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในช่วง 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพื่อเร่งผลักดันการส่งออกที่ยังไปได้ดี และ 10. การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อช่วยเอกชนเพิ่มศักยภาพการผลิตและลดต้นทุน เป็นต้น
เร่งสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ฯ
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า หลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้เร็วขนาดไหนขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่สิ่งแรกคือต้องไม่ประมาท และต้องเปิดประเทศอย่างเป็นลำดับ ส่วนเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ได้มีการเติมเงินเข้าเป๋าตังค์ผ่านมาตรการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ และเสนอให้นำมาตรการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
“นอกจากนี้ที่อยากให้เร่งคือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (2.5 แสนล้านบาท) และพักทรัพย์พักหนี้ (1 แสนล้านบาท) ข้อมูลล่าสุด ณ 25 ต.ค.64 มาตรการฟื้นฟูเพิ่งปล่อยไปได้ 119,115 ล้านบาท รวม 37,722 ราย และพักทรัพย์พักหนี้อนุมัติแล้ว 22,606 ล้านบาท รวม 146 ราย เห็นได้ว่าจากวงเงินทั้งหมดยังปล่อยได้ไม่หมด คนที่เข้าถึงได้ยังมีจำนวนไม่เยอะ ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอไปเพื่อให้มีการปรับปรุงมาตรการ หรือมีมาตรการอื่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในการประชุม กกร.วันที่ 3 พ.ย.นี้จะมีการประเมินผลจากที่ได้มีการเปิดประเทศว่าเป็นอย่างไร รวมถึงจะหารือกันถึงมาตรการเศรษฐกิจที่เราจะเสนอต่อภาครัฐด้วย” นายสนั่น กล่าว
ท่องเที่ยวขอช่วย 3 เรื่องใหญ่
ขณะที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)กล่าวว่า การเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ถือเป็นสัญญาณดีที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ที่เหลือจะเดินได้ต่อเนื่อง หรือไม่อยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นของไทยในการรองรับการระบาดให้ได้ โดยสทท.มีข้อเสนอ 3 เรื่องที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุนหลังการเปิดเมือง ได้แก่
1.ให้ภาครัฐสนับสนุนชุดตรวจ ATK ฟรีให้แก่บุคลากรด่านหน้าในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะใน 17 จังหวัดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพราะผู้ประกอบการตัวเล็ก พนักงานก็มีเงินไม่มากพอที่จะตรวจ ATK ราคา 300-500 บาทในทุก 14 วันได้ และหลายคนเข้าไม่ถึงชุดตรวจ ATK ราคา 40 บาท
2.ให้ภาครัฐดำเนินการรวมข้อมูลและแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับเปิดประเทศ ไว้อยู่ในแหล่งเดียวกันเพื่อสร้างให้เป็น ONE VOICE MESSAGE และสื่อสารอย่างเป็นทางการพร้อมๆ กัน และ 3.ให้จัดตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอสเอ็มอี เพราะวันนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่อยู่รอดมีเหลืออยู่ไม่เกิน 50% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีทุนยาวพอสมควร แต่คนตัวเล็ก เช่น รถตู้ รถบัส เรือนำเที่ยว ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ที่รัฐจัดสรรผ่านสถาบันการเงินได้
“ดังนั้นการจะให้ผู้ประกอบการเหล่านี้กลับมาเปิดธุรกิจและดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ ก็ต้องใช้เงิน อย่างรถตู้ ก็มีความต้องการเงิน 3-5 หมื่นบาทเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้กลับมาเปิดบริการได้ ส่วนรถบัสก็ใช้อยู่ที่ราว 1 แสนบาท การมีกองทุนขึ้นมาก็จะช่วยเหลือคนตัวเล็กได้”
ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ SMEs
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลังเปิดประเทศคือ การเสนอมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพราะต้องยอมรับว่า เอสเอ็มอียังต้องแบกภาระใช้หนี้เก่า หากต้องลงทุนใหม่ก็ไม่มีเงินที่จะมารีสตาร์ท ดังนั้นขอให้ภาครัฐพิจารณาพักหนี้ พร้อมหาช่องทางให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนมาเสริมสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ 3-6 เดือน, เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะสั้น 24-36 เดือน หรือปลอดดอกเบี้ย 12 เดือน เป็นต้น
“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเดินหน้าต่อได้อย่างไร ภาครัฐต้องพิจารณาพักของเดิม เติมของใหม่ปลอดดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก รวมถึงการปรับเกณฑ์การพิจารณาปล่อยกู้ของกองทุนสินเชื่อประกันสังคม ซึ่งมีกองทุนราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่ขยับเพราะ ผู้ประกอบการไม่ผ่านการพิจารณา จากหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้นจึงควรปรับเกณฑ์การพิจารณาใหม่”
ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้เดิม พบว่ามีการปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ 146 ราย เฉลี่ยได้รายละ 137 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ที่แท้จริง ดังนั้นอยากให้แบงก์พิจารณาทบทวน ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวจริงจะดีกว่า
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3728 วันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2564