17 พฤศจิกายน 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก พบว่ามีค่าสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ซึ่งยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM2.5
โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ยกร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 โดยให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจรถควันดำได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า การดำเนินการปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา คพ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และ กทม. ตรวจควันดำรถทุกประเภทในพื้นที่ กทม. 211,560 คัน รถที่ถูกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวได้แก้ไขและมายกเลิกคำสั่งแล้วจำนวน 1,589 คัน และมีการตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารที่ใช้งานทั่วประเทศแล้วจำนวน 255,379 คัน
พบรถที่มีค่าควันดำเกินกำหนดและพ่นห้ามใช้ จำนวน 1,922 คัน สำหรับปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 16 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่ กทม.ตรวจสอบ 45,482 คัน เกินค่ามาตรฐาน 11,459 คัน พื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบ 10,898 คัน เกินค่ามาตรฐาน 46 คัน
ในปีนี้รัฐจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ "ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า-ออก จำนวน 20 จุดต่อวัน ทั้งจังหวัดเมืองหลักจะทำพร้อมกัน และมีการปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำจากรถให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะเริ่มใช้บังคับในช่วงเดือนเมษายน 2565
นายชัยรัตน์ พรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การตรวจวัดควันดำตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่รัฐบาลกำหนด ขบ. ได้เพิ่มความถี่การออกตรวจวัดควันดำจากรถบรรทุกและรถโดยสารบนถนนสายหลักสายรอง โดย
1) ร่วมกับ คพ. บก.จร. และ กทม. ออกตรวจวัดควันดำรถบริเวณที่มีค่า PM2.5 สูง ในเขต กทม. และพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อลดปัญหา PM2.5 ในเขต กทม. ชั้นใน สำนักงานขนส่งจังหวัด 15 จังหวัด ในเขตปริมณฑลและพื้นที่โดยรอบที่เข้าสู่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสำนักงานขนส่งจังหวัด 61 จังหวัดทั่วประเทศ
ออกตรวจวัดควันดำภายในเขตพื้นที่จังหวัด สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 4 วัน 2) เข้มงวดการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสารตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินการตรวจวัดค่าควันดำรถทุกประเภทที่เข้ารับการตรวจสภาพรถที่สำนักงานและรถที่มาดำเนินการทางทะเบียนในด้านอื่นๆ ด้วย
3) เข้มงวดตรวจสอบการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบ และ 4) แจ้งขอความร่วมมือส่วนราชการในจังหวัดนำรถเข้ามาตรวจวัดควันดำ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาควันดำ ผ่านทางสายด่วน 1584
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ ทรัพยสาร ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กล่าวว่า บก.จร. ได้มีการจัดชุดปฏิบัติการจำนวน 20 ชุด รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจจับควันดำ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างตามกฎหมาย โดยจะเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
ว่าที่ ร.ต. วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มงานยานพาหนะ กลุ่มผู้ประกอบการโรงงาน
กลุ่มการเผาในที่โล่ง กลุ่มแหล่งก่อสร้าง โดยจากข้อมูลพบว่า ปัญหาหลักของฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุมาจากยานยนต์เป็นหลัก ทั้งนี้ ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ในเขตเมืองซึ่งหลังการแถลงข่าว ได้ลงพื้นที่ติดตามการตรวจจับรถยนต์ควันดำที่ด่านพระรามสองขาเข้า (หน้าบิ๊กซี) เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจจำนวน 49 คัน เป็นรถยนต์ 21 คัน ถูกห้ามใช้ชั่วคราว 1 คันโดยค่าควันดำอยู่ที่ ร้อยละ 80.9 และรถบรรทุก 28 คัน
พ่นห้ามใช้ 5 คัน วัดค่าควันดำได้เกินมาตรฐาน ร้อยละ 60.5 – 100 ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นรถควันดำสามารถแจ้งสายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650 หรือสายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Facebook 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ https://www.facebook.com/dlt1584 และ Line@: @1584DLT
--