20 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่รวมไปถึงการดึงพลังของเยาวชน คนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรี จัดทำ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากร พัฒนาพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยระยะแรกได้เน้นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้กับนักศึกษาและประชาชน 60,000 คนที่ อว.จ้างงาน ให้กับพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ
ล่าสุด อว. ได้ประกาศผลการประกวดชิงแชมป์ U2T National Hackathon 2021 ระดับประเทศ ในการระดมแนวคิดไอเดียเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน สำหรับ 5 ทีมที่ชนะเลิศได้แชมป์ U2T National Hackathon 2021 ดังนี้
ทีมที่ 1 ผลงาน "หัตถสานบ้านต้นตาล สุ่มปลายักษ์" จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นำเสนอการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากฐานมรดกของชุมชนให้มีความสอดคล้องกับความปกติใหม่ ผ่านประเพณีชาติพันธุ์ไทย – ญวนชุมชนบ้านต้นตาล ศิลปะหัตถสานที่บ้านดินสอ เป็นต้น
ทีมที่ 2 ได้แก่ ผลงาน "Palm Packaging" ของ ม.ทักษิณ ที่นำเอาปาล์มน้ำมันที่เหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลาสติก
ทีมที่ 3 ผลงาน "Nile Creek Rescue" จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำเสนอ การพัฒนาระบบเติมอากาศเพื่อแก้ปัญหาปลาน็อคน้ำ
ทีมที่ 4 เสนอผลงาน "จิ๊หริด แบรนด์" จาก ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างและฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดของชุมชน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ
ทีมที่ 5 ผลงาน "ตำบลเจริญสุข" ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ นำเสนอการพัฒนาลายผ้าภูอัคนีให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เป็นการใช้มหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ทำหน้าที่เป็น System Integrator ในระดับตำบล โดยนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล นำไปสู่การลดความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน
เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ทั้งการสร้างอาชีพใหม่ การพัฒนา Creative Economy การนำความรู้ไปช่วยบริการชุมชน เช่น Health Care เป็นต้น
รวมทั้งส่งเสริมสิ่งแวดล้อม/Circular Economy และจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้มีการดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่อง เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Area Based University) ในการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชนท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ด้วย นายธนกร ระบุ