23 พ.ย.2564 - แคมเปญ Save หัวลำโพง ยังกระหึ่ม ได้รับความสนใจในหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ต่อกรณีก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ นำเสนอข่าวหน้า 1 "ทุบหัวลำโพง ขึ้นตึกสูง" ระบุถึงแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณหัวลำโพง
หลัง รฟท.จะหยุดการเดินรถในวันที่23 ธ.ค.นี้ และนำที่ดินบริเวณดังกล่าวมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เกี่ยวโยงกับธุรกิจบิ๊กแบรนด์ระดับประเทศ
ภายหลังเป็นข่าวคึกโครม เกิดกระแสสังคมต่อต้านการปิดสถานีหัวลำโพง ปิดตำนานสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ ร้อนถึงกระทรวงคมนาคม
โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการสั่งการ ให้ รฟท.ทบทวนแผน เดินรถไฟเหลือ 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพง และเล็งเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาทุกมิติ ย้ำแผนพัฒนาหัวลำโพงช่วยประโยชน์ส่วนรวม
อย่างไรก็ตามในภาคประชาชน ยังคงติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ชื่อดัง เป็นอีกหนึ่งแกนนำที่เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ โดยระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ : Save ลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง พร้อมยกผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน 3 ด้าน เมื่อมีการปิดหัวลำโพง ปลุกประชาชนค้าน พลิกหัวลำโพงเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามใจความดังนี้ ....
มาช่วยรักษาสถานีหัวลำโพงให้เป็นสถานีรถไฟที่มีชีวิตต่อไปเพื่อรับใช้ประชาราษฎร์ด้วยความภักดี
บทความ Save ลมหายใจสถานีรถไฟหัวลำโพง ได้รับความสนใจจากประชาชนที่ "รักหัวลำโพง" อย่างล้นหลามเพียง2วัน ก็มีคนเข้าถึงกว่า 2.6 แสนคน มีคอมเม้นท์ส่วนใหญ่ที่ปรารถนาให้อนุรักษ์สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นสถานีที่มีรถเข้าออกเช่นเดิม ไม่ใช่แค่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตายแล้วเท่านั้น
เส้นทางรถไฟของชาติ ณ จุดเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0 จากสถานีกรุงเทพหัวลำโพงได้ให้บริการรับใช้ประชาราษฎร์เป็นอย่างดีมายาวนานถึง 105 ปี ในราคาย่อมเยามาก ใครจะเชื่อว่าราคาค่ารถไฟปัจจุบันจากชานเมืองรังสิตถึงหัวลำโพงราคาแค่ 6บาทเท่านั้น จากสถานีมักกะสัน ,บางซื่อ มาหัวลำโพงแค่ 2 บาทราคาถูกกว่ารถเมล์ ถ้าปิดหัวลำโพง โดยต้องมาต่อรถไฟฟ้าจากบางซื่อไปหัวลำโพง ก็ต้องจ่ายเพิ่มไม่น้อยกว่า 42 บาท ใช่หรือไม่
การพัฒนารถไฟฟ้าให้ทันสมัยในปัจจุบัน ล้วนแต่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
รถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ที่รัฐบาลสร้างในยุคนี้ มีทั้งหมด 10-11 สาย งบประมาณสร้างประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากภาษีของประชาชนคนเล็กคนน้อยทั้งประเทศ ที่น่าแปลกคือรัฐบาลไม่สร้างรถไฟฟ้าส่วนที่เริ่มจากศูนย์กลางที่มีคนใช้บริการจำนวนมากเพื่อให้คุ้มทุนเร็ว แต่กลับไปสร้างส่วนที่อยู่ปลายอ้อปลายแขมทำให้การเดินรถขาดทุน
ส่วนใหญ่รถไฟฟ้าทุกสายรัฐบาลใช้ภาษีประชาชนมาลงทุนสร้างเอง เหลือสายที่เป็นเนื้อๆเช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ณ สถานีเริ่มต้นที่ตลิ่งชัน กรุงเทพฯฝั่งธนบุรี ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปกรุงเทพฯฝั่งพระนคร และไปบรรจบกับสายสีส้มตะวันออกที่พระราม9 รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมีเพียง 13 สถานี แต่มีถึง 9 สถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทุกสีทั้ง10-11 สายจึงเป็นสายที่มีความสำคัญมากแต่รัฐบาลกำลังจะยกสัมปทานให้เอกชน ทั้งที่สายสีส้มตะวันออกจากมีนบุรีมาถึงย่านพระราม9 รัฐบาลออกเงินสร้างเองทั้งหมด มีทั้งโรงซ่อมรถ โรงจอดรถแล้วจร
แต่พอมาถึงส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่เป็นส่วนที่จะมีผู้โดยสารจำนวนมหาศาลจากฝั่งธนบุรีข้ามไปฝั่งพระนคร รัฐบาลกลับจะยกเนื้อชิ้นใหญ่นี้ให้เอกชนมาสัมปทาน ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถกินรวบสายสีส้มตลอดทั้งสาย รวมทั้งมีอำนาจในการกำหนดราคารถไฟฟ้าทั้งหมด ใช่หรือไม่
รัฐบาลอ้างว่ารถไฟฟ้าสายที่ไม่ได้กำไร รัฐบาลลงทุนสร้างเอง ส่วนสายที่มีกำไร เอกชนน่าจะสนใจลงทุน ฟังเหตุผลเช่นนี้แล้วย่อมอดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลเปิดทางให้เอกชนมากินรวบผลประโยชน์จากภาษีของประชาชน ใช่หรือไม่ ทั้งที่ระบบรางของรถไฟฟ้าที่สร้างใหม่เป็นเงินภาษีของประชาชน แต่ในท้ายที่สุดก็จะถูกยกให้เอกชนไปทำกำไรโดยที่ประชาชนต้องจ่ายทั้งภาษีในการก่อสร้างและจ่ายค่ารถไฟในราคาแพง ใช่หรือไม่
การที่รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจแรกๆที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ที่พระองค์มีสายพระเนตรยาวไกลที่โปรดให้สร้างทั้งรถไฟ รถราง ระบบรางเป็นการขนส่งมวลชนที่ถูกที่สุด บริการรับใช้ประชาราษฎร์ได้อย่างซื่อสัตย์ภักดี คือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนจริงๆตามมิชชั่นในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องมุ่งทำกำไรสูงสุด ประกอบการให้พออยู่ได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยภาษีของประชาชน เพื่อประชาชน
แต่กลายเป็นว่าในยุคการพัฒนาแบบสมัยใหม่ นโยบายของรัฐบาลที่ไม่เคยแถลงก็คือยกกำไรสูงสุดทุกอย่างให้เอกชนผ่านการสัมปทาน ส่วนภาระอยู่บนกระดูกสันหลังประชาชน สาธารณูปโภคสาธารณูปการ ทุกอย่างกำลังถูกผ่องถ่ายไปให้กลุ่มทุนไม่กี่เจ้าอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการจะให้หยุดเดินรถเข้ามาที่หัวลำโพง ก็เพื่อผ่องถ่ายให้เอกชนมาใช้พื้นที่หัวลำโพงโดยอ้างว่า เพื่อหาเงินใช้หนี้ และอ้างว่าที่ต้องหยุดเดินรถไฟมาหัวลำโพงเพราะทำให้รถติด
ทั้งที่รัฐบาลดูเหมือนจะมีนโยบายส่งเสริมระบบรางเพราะระดมสร้างรถไฟฟ้าขนานใหญ่ หรือว่าการสร้างรถไฟฟ้ามากมายหลายสายก็เพื่อยกประโยชน์ให้เอกชนทำกำไรจากค่าโดยสารที่เก็บจากประชาชนแพงๆ จึงต้องตัดการเดินรถไฟมาหัวลำโพงโดยรฟท. ที่มีราคาถูกเพื่อบีบให้ประชาชนต้องต่อรถไฟฟ้าที่มีราคาแพง ใช่หรือไม่
สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีที่หยุดการเดินรถไฟไปหัวลำโพงก็คือ
อย่างไรก็ดี ดิฉันเพิ่งได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลว่าจากที่รมว.กระทรวงคมนาคมได้มอบให้การรถไฟฯไปดำเนินการกำหนดแผนการหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ในวันนี้ 22 พ.ย.64 มีการประชุมคณะอนุกรรมการของกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามพิจารณาเรื่องงดขบวนรถ โดย รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ทางรมว.คมนาคมได้มอบให้การรถไฟกลับไปทบทวน ปรับแผนการงดขบวนรถอีกครั้ง เนื่องจากมีกระแสคัดค้านของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ดิฉันขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันส่งเสียงเสนอให้เจ้ากระทรวงได้รับทราบว่าประชาชนไม่ต้องการให้ปิดสถานีหัวลำโพง ควรปรับปรุงสถานีหัวลำโพงให้ยังเป็นสถานีศูนย์กลางต่อไปอีกแห่งนอกเหนือจากศูนย์บางซื่อ และให้สถานีหัวลำโพงยังคงเป็นจุดปลายทางของรถจากภูมิภาค และชานเมืองที่มีราคาย่อมเยาเป็นทางเลือกของประชาชน
สถานีหัวลำโพงเป็นระบบรางที่ได้ลงทุนมานานแล้ว และใช้การได้อยู่ เช่นเดียวกับสนามบินดอนเมือง เราควรได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนี้ต่อไป ดีกว่าทิ้งไป แล้วยกไปให้เอกชนสร้างย่านธุรกิจทับเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ของประเทศ การมีศูนย์กลางรถไฟเดิม และศูนย์กลางใหม่ น่าจะดีกว่าแออัดอยู่ในที่เดียว ซึ่งไม่ต่างจากที่เรายอมรับให้มี2สนามบิน ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง
เราควรรักษาสถานีกรุงเทพหัวลำโพงไว้ ให้เป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตรับใช้ประชาราษฎร์ด้วยความภักดีต่อไป ดีกว่าทิ้งไปและเหลือเพียงซากพิพิธภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต มิใช่หรือ
รสนา โตสิตระกูล
22 พย. 2564