กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นไมซ์ซิตี้ ที่มีการพัฒนาในระดับสูง สะท้อนให้เห็นจาก การผ่านการประเมินมาตรฐานเมืองไมซ์ซิตี้ 8 ด้านครั้งล่าสุด โดยเชียงใหม่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน ตลอดจนมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ด้านการเดินทางธุรกิจและท่องเที่ยว หรือ Bleisure Destination ทั้งหมดนี้มาจากการมีส่วนร่วม ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาเมืองอย่างมียุทธศาสตร์ร่วมกันมาโดยตลอด
การที่ทีเส็บ(สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) จัดงาน “ฟังเสียงเชียงใหม่ แทคทีม! คน ไมซ์ เมือง” และกิจกรรมสร้างการรับรู้โครงการ"ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า" ขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่ายินดี ที่ได้มาฟังเสียงคนเชียงใหม่ในหลายภาคส่วนร่วมกันคิด ค้นหาแนวทางความร่วมมือ และผลักดันให้กิจกรรมไมซ์ในจังหวัดเชียงใหม่ บรรลุเป้าหมายเมืองร่วมกัน
"ขณะนี้ เชียงใหม่ ในฐานะเมืองนำร่อง 17 จังหวัด ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้เปิดพื้นที่รับระบบ test&go ในระยะแรก จังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้แคมเปญ Charming Chiang Mai ในการกระตุ้นการเดินทาง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และได้มีมาตรฐานด้านสุขอนามัย ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย พร้อมรองรับการจัดงานประชุม สัมมนา แสดงสินค้าแบบ new normal แน่นอน”
ด้านนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีแนวทางในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล
โครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยเฉพาะธุรกิจการจัดประชุมสัมมนา และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้
“ในปีนี้ทีเส็บได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 20 ล้านบาท ให้การสนับสนุนงบประมาณ 15,000 บาทสำหรับการจัดกิจกรรม 1 วัน ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง และ 30,000 บาทสำหรับการจัดกิจกรรม 2 วัน 1 คืน ได้แก่ การประชุม การสัมมนา การอบรม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมศึกษาดูงาน หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งในชุมชน
และได้พัฒนาระบบการขอรับการสนับสนุน ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านแพลตฟอร์ม ThaiMICEConnect.com ซึ่งเป็น e-MICE Marketplace ที่สมัครเข้าใช้บริการได้ง่าย ช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้มีผู้ประกอบการไมซ์ให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก"
ปัจจุบันมีผู้ขอรับการสนับสนุนและอนุมัติแล้วรวม 813 งาน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564) และแสดงความจำนงมากกว่า 1,000 งาน มีผู้เข้าร่วมงาน 43,530 คน มีมูลค่าการจัดงาน 63 ล้านบาท โดยมีจำนวนงานที่ได้รับการอนุมัติ 637 งาน กระตุ้นให้มีการจัดกิจกรรม 2,187 กิจกรรม เกิดมูลค่าต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวม 119 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 966 คน (ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน - 30 กันยายน 2564)
โดยในภาคเหนือมียอดการยื่นขอกว่า 200 งาน ก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่ 18.69 ล้านบาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาคเหนือกว่า 33.41 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการประชุมสัมมนาในประเทศ ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญหลักในการกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ภายในงาน “ฟังเสียงเชียงใหม่ แทคทีม! คน ไมซ์ เมือง” และกิจกรรมสร้างการรับรู้ โครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทีเส็บยังได้แนะนำแคมเปญสนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์ ในรูปแบบต่าง ๆ ครบทุกมิติของอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดประชุมสัมมนา แต่ยังรวมไปถึงการประชุมนานาชาติ งานแสดงสินค้านานาชาติ งานเฟสติวัล และงานเมกะอีเวนต์ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เติบโต ควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อยอดให้มีความยั่งยืน ลดการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ
แม้ขณะนี้หลายพื้นที่ผ่อนคลาย เรื่องการจัดกิจกรรมรับนโยบายเปิดประเทศ แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม สัมมนา เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 22.00 น. การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน ให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม จัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด และเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด พร้อมทั้งดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการจัดงานไมซ์อย่างเคร่งครัด