กลับมาอีกครั้ง มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัย ที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนปฏิบัติ ทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี
ถือเป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงการบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม
จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิดขึ้น ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 - 26 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “COVID-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ว่า งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง วช. และประชาคมวิจัยทั่วประเทศ
อว.ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในการเสนอแนวทาง การขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศเจริญแล้ว ภายในปี พ.ศ.2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า โดยใช้วิจัยและนวัตกรรม โดยจะต้องทำแบบมี Commitment เพื่อให้คนรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
เราไม่สามารถพึ่งเศรษฐกิจและทรัพยากรพืชผลอย่างเดียวได้ แต่ต้องอาศัยวิจัยและนวัตกรรม จะเกิดประโยชน์เป็นร้อยเป็นพันเท่า โดยตั้งแต่ COVID-19 ได้เข้ามามีบทบาท ทำให้เห็นว่างานวิจัย สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยเป็นอย่างดี เห็นช่องทางการทำธุรกิจแบบประเทศที่เจริญแล้ว บุคลากรนักวิจัยเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาประเทศมากขึ้น
โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อาทิ ห้อง ICU ความดันลบ วัคซีนที่กำลังจะใกล้ใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นต้น ซึ่งผลงานของนักวิจัยไทยสามารถผลิตในราคาที่ต่ำกว่า 5 ถึง 10 เท่า ของผู้ผลิตในตลาดโลก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจสร้างผลิตผล และการบริการที่สำคัญต่อไปได้”
ในการนี้ รมว.อว.ได้เสนอให้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องทำแบบเดิน 2 ขา คือ การทำวิจัยและนวัตกรรม ควบคู่กับการทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สะท้อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นิเวศน์ของประเทศ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยเน้นย้ำว่า ควรเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการทำงาน และถอดบทเรียนอย่างจริงจัง มีความเชื่อและความหวังในการมีอนาคตที่ดี ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยการศึกษาอดีต ประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อผสานอดีตกับกระแสโลกไปสู่อนาคต โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เข้าด้วยกัน
“ในยุคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นสังคมไทยที่เข้มแข็ง และยืดหยุ่น งานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์และตอบโจทย์อย่างมากต่อประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไปได้มาก ด้วยการร่วมมือกัน เราจึงสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้ โดยเราต้องทำงานแบบ Necessity is the mother of innovation (ความจำเป็นเป็นมารดาของการประดิษฐ์คิดค้น ) ในหัวใจ ไม่เพียงแค่ทำงานในสาขาวิชาของตน แต่ต้องบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนประเทศ สู่ประเทศที่เจริญแล้วภายในปี พ.ศ.2580 ให้ได้” รมว.อว. กล่าว
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ปีนี้ วช. ได้นำประเด็นตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายของรัฐ และประเด็นที่เป็นปัญหา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ที่ได้เผชิญวิกฤตการการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มากำหนดเป็นธีมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้
1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้
2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม
3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model
6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
7) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่
พร้อมทั้งนำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทย และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฉายพระอัจฉริยะภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รวมถึงนิทรรศการการนำเสนอข้อมูล และผลงานจากเครือข่ายในวิจัยทั่วประเทศ ในรูปแบบไฮบริด โดยมีการจัดประชุมสัมมนาด้วยระบบออนไลน์กว่า 100 หัวข้อ และสามารถชมนิทรรศการได้ ในรูปแบบ Visual Exhibition ที่จำลองบรรยากาศงาน ผ่านแพลตมฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการ Live ในแต่ละวัน
นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัย ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
นับเป็นทศวรรษของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงจัดให้มีนิทรรศการชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมในภาคการประชุมยังมีหัวข้อที่หลากหลาย ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับ MASCOT ในปีนี้ ได้แก่ “น้องวิจัย” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์นักวิจัยแบบซูเปอร์ฮีโร่ทางการแพทย์ เพื่อเป็นการยกย่อง ทีมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอาความรู้ ที่มาจากงานวิจัยมาพัฒนาสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ในการดูแลรักษาช่วยเหลือผู้คนในช่วงโควิด-19
พร้อมเปิดตัว “ทูตวิจัย” ประจำปี 2564 “เพื่อน คณิน ชอบประดิถ” เป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความช่างสังเกต เรียบง่าย และสามารถเข้าถึงงานวิจัยใกล้ตัวได้
การจัดงานในปีนี้ วช. ได้มีการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ Covid Free Setting ได้รับการร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมทั่วประเทศ ในการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ด้วยความตั้งใจที่ วช. จะส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบผสมผสานที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัย