ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ กับ การพัฒนางานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง

22 ต.ค. 2564 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 20:32 น.

ในยุคที่คนไทยแทบทุกคน รู้จักกับคำว่า “วัคซีน” และรับรู้ว่าประเทศเรา ก็สามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้ เพราะฉะนั้น เราควรมารู้จักกับหญิงไทยผู้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ ในการผลิตวัคซีนเพื่อคนไทย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่วัคซีนโควิด -19

ในนาม บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เธอคือ “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ” CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยาฯ นั่นเอง 

 เป้าหมายการเกิดขึ้นของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา” เล่าว่า บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม เป็นสตาร์ทอัพ ที่สปินออฟมาจาก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือจะบอกว่า ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่ผิดอะไรนัก โดยได้รับการบ่มเพาะจากมูลนิธิ ซียู เอ็นเตอร์ไพรส์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 
ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ กับ การพัฒนางานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง  

ต่อมามีการสร้างทีมไทยแลนด์และหาพาร์ทเนอร์ คือ บริษัท จินเคนไบโอเทค จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำโปรตีนบริสุทธิ์ รวมถึง องค์การเภสัชกรรมในการส่งวัคซีนที่ได้ไปบรรจุและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโจทย์ที่ต้องการทำ “วัคซีนโควิด-19” ให้เร็วบริษัทใบยาฯ จึงไม่สามารถทำทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง

CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยาฯ บอกว่า โดยส่วนตัวเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงานที่ทำควบคู่กัน คือ การทำงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง และในวันนี้ ก็ได้รับบทบาทเพิ่ม มาเป็นซีอีโอ ทำหน้าที่นำน้องๆ ในบริษัทให้ช่วยกันคิดค้นพัฒนาวัคซีน โดยเริ่มต้นจากทีมงานเพียง 3 คน จนปัจจุบัน มีนักวิจัยในทีมประมาณ 60 คนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เอกชน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
 

ความตั้งใจของ “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา” คือ ต้องการทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะมันคือสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยร่วมกับบริษัทยาทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสทำงานวิจัยยาในหลายชนิด และล่าสุด คือการทำวิจัยและพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” จากพืช หรือใบยาสูบ โดยนักวิจัยเป็นผู้ปลูก ทำให้ต้นทุนไม่สูง จะสามารถลดการนำเข้าวัคซีน จากต่างประเทศ และเมื่อผลิตจำนวนมากๆ ทำให้ต้นทุนราคาถูกลงเข้าไปอีกด้วย
  ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ กับ การพัฒนางานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง

“เราผลิต Recombinant Protein โดยการใช้พืชเป็นแหล่งผลิต โปรตีนที่เราผลิตได้ สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ LAB REAGENTS ในห้องปฏิบัติการอุตสาห กรรมเครื่องสำอาง การทำชุดตรวจ ATK/ Medical Devices, Biological Drugs ยา, Vaccines ใบยา เรามีเทคโนโลยี ในการผลิต โดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิต”  
 

“ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา” อธิบายต่อว่า ตอนนี้ใบยาฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น นอกจากวัคซีนโควิด ยังมีอื่นๆ ที่ทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะไปทดลองในมนุษย์ เป้าหมายการผลิตวัคซีนคือการผลิตในระดับอุตสาหกรรม จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง และก่อตั้งโรงงาน ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเวลาเพียง 10 เดือน โดยเริ่มดำเนินการเดือนตุลาคม 2563 และเริ่มผลิตได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 โดยวัคซีนโควิดกลุ่มแรก เริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว คาดว่า ไตรมาส 3 ปี 2565 จะได้วัคซีนให้คนไทย และคนในภูมิภาคนี้ใช้

“วันนี้วงการวัคซีนในไทยเดินหน้า มีแพลตฟอรฺ์มที่เตรียมทดลองในมนุษย์แล้วถึง3 ตัว อนาคตประเทศไทยจะไม่ได้มีแค่เพียงวัคซีน แต่จะมีแพลตฟอร์มการวิจัยพัฒนาและผลิต เป็นการสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ” 
  ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ กับ การพัฒนางานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง

ขณะนี้ใบยาฯ ได้ร่วมพัฒนาวัคซีน รุ่นที่ 2 ที่จะรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้กระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น ตอนนี้กำลังทดลองในสัตว์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาในระยะที่ 1 เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป รวมทั้งยังเตรียมหาคอนเนคชั่นในการแบ่งบรรจุ  
 

ความก้าวหน้าเหล่านี้ ถือเป็นผลพวงของไวรัสโควิด -19 ที่มากระตุ้นให้นักวิจัยไทยมากฝีมือ ได้นำพื้นฐานโครงสร้างงานวิจัยที่มีอยู่ มาผลักดันให้เกิดเป็นชิ้นงานจากหิ้งสู่ห้างจริงๆ อย่างที่ “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ” CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยาฯ กล่าวไว้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยาและวิทยาศาสตร์ของไทยเลยทีเดียว

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,724 วันที่ 21 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564