“ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะออกสู่ตลาดมากพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ส่งผลให้ "โรงสี" และ "ตลาดกลาง" มีความจำเป็นต้องเร่งระบายสต๊อก เพื่อให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการทันที จากเห็นสัญญาณราคาข้าวแต่ละชนิด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวมีสัญญาณตกต่ำอย่างเห็นได้ชัดก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 หรือ "ประกันรายได้ข้าว" จะมีมาตรการคู่ขนาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและ/ หรือข้าวสาร โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท ที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้วนั้น แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว 1.5 ล้านตัน และข้าวเจ้า ปริมาณ 2.5 ล้านตัน รวม 4 ล้านตัน
สำหรับในปีนี้มี 10 ธนาคาร ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 5.39 หมื่นล้านบาท อันดับหนึ่งคือ ธนาคารกรุงไทย มีโรงสีเข้าร่วม 87 ราย วงเงินกู้ 3.5 หมื่นล้านบาท รองลงมา ธนาคารกสิกรไทย มีโรงสีเข้าร่วม 40 ราย วงเงินกู้ 9,258.50 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
ทั้งนี้วิธีการรับซื้อข้าวเปลือก ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะต้องนำเงินกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (ยกเว้น ธ.ก.ส.) จากธนาคารไปดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2564 ถึง 30 มิ.ย. 2565 ในราคาตลาดตามการค้าปกติ ส่วนธนาคารพาณิชย์และ/หรือธนาคารของรัฐต้องตรวจสอบข้าวของผู้เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
โดยคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสต๊อกร่วมกับผู้แทนของธนาคารพาณิชย์และหรือธนาคารของรัฐ โดยต้องตรวจสอบสต๊อกครั้งแรกไม่น้อยกว่า 30 วันหลังจัดเก็บ หลังจากนั้นต้องรายงานผลให้ทราบทุกเดือน แต่กรณีตรวจสอบพบว่าปริมาณการสต๊อกข้าวไม่ครบถ้วนจะถือว่าระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยสิ้นสุดลง กรณีเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ไม่ถึง 60 วัน จะไม่ได้รับการชดเชย
นายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกกลับมาดีขึ้น จากก่อนหน้านี้อ่อนตัวลงมา จากเรือมีการเลื่อนการเดินทางเข้ามารับสินค้า เพราะมีมรสุม ข้าวเต็มโกดัง ผู้ค้าชะลอการรับซื้อข้าว ประกอบกับค่าระวางเรือสูงขึ้น แต่ช่วงนี้อากาศเริ่มดีแล้ว เรือมีการทยอยเข้ามาแล้ว ทำให้มีความต้องการซื้อข้าวเข้าโกดังเพิ่ม ราคาจึงขยับขึ้น
“ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่เวลานี้ เริ่มทยอยออกมา ราคายังทรงๆ ส่วนข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ราคาเริ่มดีขึ้น จากโรงสีเริ่มเปิดรับซื้อข้าว เพราะทุกคนต้องมีของป้อนโรงอบตลอดเวลา ที่น่าจับตาคือปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า ช่วงผลผลิตออกมามากกำลังการอบข้าวของโรงสีภาคอีสานจะมีรองรับเพียงพอหรือไม่ แต่ถ้าผลผลิตออกมามากแล้วไม่มีโรงสีนอกพื้นที่มาช่วยซื้อ ราคาก็อาจจะอ่อนตัวลงได้”
อย่างไรก็ดี ปกติข้าวทุกชนิดมีราคาที่แข่งขันได้ในช่วงข้าวออกใหม่จากมีความต้องการของคู่ค้า เชื่อว่าผู้ส่งออกต้องการที่จะผลักดันข้าวทุกชนิดออกไปให้มากที่สุดในช่วงปลายปี จากมีความต้องการข้าวสารเพื่อนำไปเป็นของขวัญช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จะขายดีในช่วงตรุษจีน ดังนั้นในช่วงนี้การซื้อขายจะกลับมาคึกคัก
สอดคล้องกับ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงแบรนด์ “จัสมิน” กล่าวว่า ยอดขายข้าวถุงตลาดในประเทศของบริษัทปีนี้คาดจะขยายตัว 60-70% จากเน้นในเรื่องราคาประหยัด ขณะที่ตลาดข้าวถุงในประเทศภาพรวมปี 2565 คาดจะยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลมีโครงการคนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วย ทำให้ยอดขายข้าวถุงเพิ่มขึ้น
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564