สืบเนื่องจากรายงานการระบาดของโรคในสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ ได้แก่ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พบทั่วโลกและมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสปป.ลาว โรคไข้หวัดนก (HPAI) พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งตอนนี้ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ระดับภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ รวมถึงโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ที่มีแมลงเป็นพาหะ และล่าสุดคือโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ที่ก่อโรคในโค-กระบือ ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในประเทศไทยต้นปี 2564
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์และการบริการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดเข้มงวดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรซึ่งไม่พบการระบาดในประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าอย่างต่อเนื่อง เข้มงวดการเคลื่อนย้ายและตรวจโรค สร้างด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อร่วมกับภาคเอกชน
นอกจากนี้ในปี 2563-2564 ได้จ่ายค่าชดใช้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่สุกรที่ถูกทำลายแล้ว จำนวน 3,239 ราย สุกร 112,768 ตัว โดยล่าสุด 23 มีนาคม 2564 ถึง 15 ตุลาคม 2564 อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายให้เกษตรกรอีก 4,924 ราย จำนวนสุกร 159,167 ตัว สำหรับโรคไข้หวัดนก ได้มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์เชิงรุกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง การควบคุมป้องกัน การเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด
กรณีที่ผิดปกติเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่จะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งประเทศไทยได้ปลอดจากโรคไข้หวัดนกมากกว่า 10 กว่าปีแล้ว ส่วนโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย พบครั้งแรกในปี 2563 นั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ลดการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และกำหนดแผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) โดยเร็ว
ล่าสุดไม่พบการระบาดของโรค AHS แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยจะขอคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ได้ภายในปี 2566 นี้ และโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยปี 2564 ได้มีมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค ทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น จนล่าสุดสามารถควบคุมการเกิดโรคให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัด นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรแล้ว 8 จังหวัด วงเงินกว่า 8.52 ล้านบาท และจะเร่งตรวจสอบเอกสารและทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้เสียหายในแต่ละจังหวัดให้ทันภายในช่วยเทศกาลปีใหม่นี้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ยึดหลัก “รู้เร็ว สงบโรคได้เร็ว” ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคไข้หวัดนก สามารถควบคุมการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ไม่พบรายงานมาปีกว่าแล้ว และยังคุมการเกิดโรคลัมปี สกินในโค-กระบือให้ในอยู่ในวงพื้นที่จำกัดได้ และเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างยั่งยืน
จึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้สามารถป้องกันโรคได้ เช่น การฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม การกำจัดซาก การป้องกันสัตว์พาหะต่างๆ การห้ามนำเศษอาหารมาเลี้ยงสัตว์ และการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง