รับ 20 อัตรา! ปตท.สผ.ผนึกสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานยกระดับฝีมือสาขาอาชีพช่าง

30 พ.ย. 2564 | 23:11 น.

ปตท.สผ. ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา จัดหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อยกระดับฝีมือสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ กลุ่มอาชีพช่างเชื่อม สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่ ระบุรับ 20 คน

นายกวิน วัฒนะจรรยา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ.ร่วมกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงาน (Labour Skill & Competency Development Project) เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง 
โดยล่าสุดกำลังเปิดรับสมัครฝึกอบรมรุ่นที่ 2 ซึ่งจะมีการอบรมในวันที่ 14 – 17 ธันวาคม 2564 โดยจะรับสมัครจำนวน 20 คน และรุ่นแรกอบรบไปแล้วเมื่อวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว เปิดให้สมัครอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถจัดเตรียมและใช้วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ในงานเชื่อมและตัดโลหะสมัยใหม่และปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องปลอดภัย มีการฝึกปฏิบัติงานเชื่อมด้วยเทคโนโลยีฝึกการเชื่อมเสมือนจริง ทั้งด้านเทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการเชื่อมแบบ CMT 

จัดหลักสูตรเพิ่มเติม ยกระดับฝีมือสาขาอาชีพช่าง
การเชื่อมแบบมิก/แม็ก การเชื่อมพลาสม่า การเชื่อมทิก การเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ การเชื่อมระบบราง และเทคโนโลยีการเชื่อมใต้น้ำ การเชื่อมต่อใบเลื่อยสายพาน การเชื่อมเลเซอร์ ซึ่งเป็นการเชื่อมที่ต้องใช้ทักษะสูงสำหรับงานด้านอุตสาหกรรม ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและมีคุณภาพแนวเชื่อมตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานสากล

สำหรับครงการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินงานโดยฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้มาตรฐานสากลเข้าสู่ตลาดแรงงานและช่วยเพิ่มศักยภาพให้แรงงานฝีมือรองรับอุตสาหกรรม 
กลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ วิศวกร หัวหน้างาน ช่างเทคนิค นักศึกษาปีสุดท้าย พนักงานหรือผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาแล้วในด้านงานเชื่อมและงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับความต้องการแรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม สามารถเพิ่มรายได้และโอกาสการมีงานทำมีรายได้สูงขึ้น เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานในพื้นที่ภาคใต้