เปิดโมเดล “ท่าเรือแหลมฉบัง” ดึงเอกชนร่วมทุนอีอีซี

03 ธ.ค. 2564 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 14:06 น.

กทท.เดินหน้าสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ดึงเอกชนร่วมทุน คาด35ปี รัฐโกยรายได้ 8.7 หมื่นล้าน เล็งเปิดแผนประมูลท่าเทียบเรือB เริ่มปี 65 หลังหมดสัญญาสัมปทาน ผุดแผนประมูลท่าเรือE รับปริมาณตู้สินค้าเพิ่ม 18 ล้านที.อี.ยู

รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกโดย มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา หากดำเนินการสำเร็จได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ปี 2561-มิถุนายน 2564 จะช่วยดึงดูดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท อีกทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ

 

 

 ลุยแหลมฉบังเฟส3

ล่าสุด “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” เร่งดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เนื่องจากเป็น1 ในโครงการที่อยู่ในโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี โดยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวพบว่าใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน เนื่องจากในช่วงที่มีการเปิดประมูลนั้นมีกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้ายื่นซองข้อเสนอรวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคตามที่กำหนดใน RFP ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เนื่องจากเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน RFP หรือเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ เป็นเหตุให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ส่งผลให้การเปิดให้บริการของโครงการฯล่าช้า 2 ปี

 

 

 

35ปีรัฐได้ผลตอบแทน 8.7หมื่นล้าน

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร อดีตผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือ F ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กทท.ลงนามสัญญาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาทต่อไร่ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ เบื้องต้นอยู่ระหว่างเสนอนายกรัฐมนตรีฯอนุมัติ เป็นประธานในการลงนามสัญญา คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมนี้ และเปิดให้บริการภายในปี 2568หากมีการลงนามร่วมลงทุนในสัญญาแล้ว เบื้องต้นเอกชนต้องชำระเงินสดค่าธรรมเนียมการทำสัญญาวงเงิน 120 ล้านบาท และหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยใน 2 ปี แรกหลังจากเปิดให้บริการเอกชนต้องชำระเงินตามสัญญา วงเงิน 70-80 ล้านบาท และในปีต่อไปต้องชำระเงิน เฉลี่ย 2,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี รัฐจะได้ผลตอบแทน มูลค่า 87,400 ล้านบาท

เปิดโมเดล “ท่าเรือแหลมฉบัง” ดึงเอกชนร่วมทุนอีอีซี

ทั้งนี้กทท. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการฯ ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เบื้องต้น กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) แก่กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที

 

 

ขณะที่ส่วนที่ 2 การก่อสร้างถนนและสะพาน กทท.อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วๆนี้ ส่วนที่ 3 งานระบบรางและย่านรถไฟและส่วนที่ 4 งานติดตั้งระบบและเครื่องจักร จะเร่งดำเนินการต่อไป เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต

 

 

เปิดบริการปี68

หากผู้รับเหมาดำเนินการขุดลอกและถมทะเล แล้วเสร็จตามแผนหลังจากนั้น กทท.จะมีหนังสือแจ้งเริ่มงาน (NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนหรือกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ดำเนินการก่อสร้างหน้าท่าของท่าเทียบเรือ รวมถึงระบบการจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ทันเปิดให้บริการภายในปี 2568

 

 

 

นอกจากนี้หลังจากการเปิดให้บริการโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในส่วนของท่าเรือ F1 และท่าเรือF2 จะทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้านทีอียู โดยในปี 2573 ทางกทท.มีแผนจะเปิดประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ในส่วนของท่าเรือ E วงเงิน 25,000 ล้านบาท ในรูปแบบการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)โดยแบ่งพื้นที่เป็นท่าเรือ E1 และท่าเรือE2 เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้านทีอียู ทำให้ท่าเรือ E สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 18 ล้านที.อี.ยู จากเดิมที่ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าในปี 64 อยู่ที่ 11 ล้านที.อี.ยู โดยกทท.จะดำเนินหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ต่อไป ส่วนท่าเรือE0 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นกทท.จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เป็นท่าเรือขนส่งหรือท่าเรือโดยสาร เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้สามารถจอดท่าเทียบเรือได้ 2 ลำ

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 (เฟส 1) ในส่วนของท่าเทียบเรือ B ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563 และได้รับการต่อสัญญาใหม่อีก 5 ปีถึงปี 2568 นั้น  ปัจจุบันกทท.ได้จ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาแผนและรูปแบบการลงทุน ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ภายใต้ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 

 

 

ขณะเดียวกันการดำเนินการศึกษาแผนการลงทุนนั้นจะต้องศึกษาถึงแนวโน้มตลาดโลกว่ามีปริมาณเรือเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร รูปแบบการลงทุนว่าจะเป็นในรูปแบบ PPP - Gross Cost หรือ รูปแบบการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost  ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2565 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการในขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ในปี 2565 – 2566 เพื่อให้ได้เอกชนเข้ามาลงทุนสัมปทานได้ต่อเนื่องหลังจากหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2568 

 

เปิดโมเดล “ท่าเรือแหลมฉบัง” ดึงเอกชนร่วมทุนอีอีซี

 


สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ในส่วนของท่าเทียบเรือ B นั้น แบ่งเป็นท่าเทียบเรือ B1 ท่าเทียบเรือ B2 ท่าเทียบเรือ B3 ท่าเทียบเรือ B4 และท่าเทียบเรือ B5 แต่ที่จะต้องประกวดราคาใหม่เป็นท่าเทียบเรือ B1-B4 โดยท่าเทียบเรือ B3 นั้น บริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด เป็นผู้สัมปทานรายเดิม ส่วนท่าเทียบเรือ B2 บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สัมปทานรายเดิม ท่าเทียบเรือ B3 นั้น บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอรมินัล จำกัด (ESCO) เป็นผู้สัมปทานรายเดิม และท่าเทียบเรือ B4 บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด เป็นผู้สัมปทานรายเดิม ทั้งนี้การประกวดราคาสัมปทานใหม่นั้นก็ต้องพิจารณาว่าจะเป็นสัญญาเดียว หรือแบ่งออกเป็นหลายสัญญาเหมือนปัจจุบัน

 

 


คงต้องจับตาดูว่าโมเดลท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง