นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2564 เท่ากับ 102.25 เทียบกับเดือนต.ค.2564 เพิ่มขึ้น 0.28% เทียบกับพ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 2.71% สูงสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เม.ย.2564 ที่เพิ่มขึ้น 3.41%
ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.15% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.68 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2563 และเฉลี่ย 11 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนพ.ย.2564 เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 37.19% สินค้าเกษตรบางชนิดยังมีราคาสูงขึ้น เช่น ผักสด และเนื้อสุกร เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้ามา มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ในช่วงเดือนพ.ย.2564 ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโอไมคอน
ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2564 คาดว่าจะยังคงสูงขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง สินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการ โดยอัตราการขยายตัวน่าจะใกล้เคียงกับเดือนพ.ย.2564 แต่ถ้าจะลดก็ลดเล็กน้อย ซึ่งต้องดูปัจจัยจากโอมิคอนประกอบว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนทั้งปี 2564 ยังอยู่ในเป้าหมาย 0.8-1.2%
สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2565 สนค.ได้ประเมินไว้อยู่ที่ 0.7-2.4% ค่ากลาง 1.5% มีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบทั้งปี 63-73 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเบื้องต้นคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้น และเริ่มลดลงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป แต่ก็ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากโอไมคอน ที่กำลังระบาดว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน