เปิดตัว “สมาคมพลังชาวนาไทย ร่วมใจสามัคคี” หวังพลิกอนาคตชาวนาไทย

08 ธ.ค. 2564 | 01:13 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 08:13 น.

เจาะเบื้องลึก นายก “สมาคมพลังชาวนาไทย ร่วมใจสามัคคี” ทำไมก่อตั้งสมาคมขึ้น ทั้งที่มีองค์กร สมาคม ชาวนา มีให้เลือกที่จะไปขับเคลื่อน แต่ทำไมตัดสินใจตั้งสมาคมขึ้นมา ตอบแบบตรงไปตรงมา

พิษณุ พงษ์อุบล

นายพิษณุ พงษ์อุบล นายกสมาคมพลังชาวนาไทย ร่วมใจสามัคคี  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในตอนแรกถูกทาบทาม ให้อยู่กับสมาคมหลักของชาวนา อยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน ทำนาที่กำแพงเพชร มีพื้นที่ 30-40 ไร่ บังเอิญไปดูข่าวขององค์การคลังสินค้า (อคส.) มีโครงการที่จะรับซื้อข้าวพื้นนุ่ม เปิดตัวว่าจะรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในตอนแรกมีการหาข้อมูลก็ยังไม่รู้จักใครมากมาย ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ท้ายสุดก็ไม่สามารถเข้าถึงได้

 

ประจวบกับได้ไปรู้จักกับคนในสมาคมดังกล่าวข้างต้นก็แนะนำและก็มีการเชิญชวนให้เข้าไปอยู่ในสมาคม พร้อมกับตำแหน่งประชาสัมพันธ์ ก็ไม่ได้รับปาก แต่ก็ดูโครงการในสมาคมนี้ก็มีโครงการข้าวพื้นนุ่มที่จะขายให้กับ อคส.

 

"ตัวผมเองก็อยากจะขายข้าวพื้นนุ่มให้ แต่เงื่อนไขจะต้องเป็นข้าว กข79  ก็สงสัยว่าทำไมจะต้องเป็นข้าว "กข79"  แต่ที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าว "กข87" พันธุ์ใหม่ล่าสุด ซึ่งปูทางไปเป็นข้าวพันธุ์อื่นได้ไหม เพราะ อคส.ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวพันธุ์อะไร เพียงระบุว่าเป็นข้าวพื้นนุ่มเท่านั้น แล้วใครที่จะขายข้าวพื้นนุ่มจะต้องผูกบัตรทะเบียนเกษตรกรให้เข้าร่วมสมาชิกสมาคมด้วย"

 

นายพิษณุ  กล่าวว่า ตอนนั้นก็รู้สึก เอ๊ะ ยังงัย ทำไมสมาคมดูแปลกๆ แล้วก็บอกว่าหากใครปลูกข้าวพันธุ์นี้จะได้ 7,000-8,000 บาท/ตัน ก็มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก็เลยต้องลองดูเผื่อว่าจะจริง แล้วล่าสุด พอเก็บเกี่ยว ผู้ใหญ่บ้านไปขายได้ราคาแค่ 6,300 บาท/ตัน จึงตัดสินใจส่งข้อความไปหาพร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมขายได้แค่นี้ เพราะตอนแรกมีการประกันราคาไว้ที่ 7,000-8,000 บาท/ตัน

 

 

"แต่ต่อมาทางสมาคมก็ได้ชี้แจงว่าไม่มีการประกันราคา ประกอบกับหลายเรื่องที่สมาคมได้แสดงจุดยืน ทำเกิดความสงสัย มองดูการทำงานไม่โอเค ดูแล้วมีเบื้องลึกเบื้องหลัง เหมือนมีอะไรครอบงำหรือเปล่า"

 

โลโก้สมาคม

 

นายพิษณุ กล่าวว่า เมื่อคิดดูแล้วจึงตัดสินใจมาตั้งสมาคมเองดีกว่าในเมื่อก็คิดว่าตัวเองพอทำได้ แล้วประกอบกับสมาคมที่ตั้งก่อนหน้านี้ไม่ตอบโจทย์ ไม่ช่วยเหลือชาวนาเต็มที่  แล้วเป็นกลุ่มที่รวมตัวด้วยคนรุ่นใหม่ นี่แหละจึงเป็นที่มาของสมาคมที่ได้ก่อตั้งขึ้น สมาคมพลังชาวนาไทย ร่วมใจสามัคคี” พร้อมแล้วที่จะพลิกโอกาสชาวนาไทย

 

อนึ่ง "สมาคมพลังชาวนาไทย ร่วมใจสามัคคี"  มีแผนที่จะจดทะเบียนสมาคมในวันที่ 25 ธันวาคม 2564

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้นายพิษณุ ได้โชว์วิสัยทัศน์ อย่างน่าสนใจว่า สมาคมจะต้องวางหลักให้แน่นๆ เน้นทำเองขายกันเองในกลุ่ม ช่วยๆกัน แค่ตลาดเปลี่ยนมือ ที่ดินเราทำกันเท่าเดิม โรงสีก็แค่คนอาศัยที่ดินเราเอาไปค้าขาย คนกลาง ส่งออก

 

ถ้าเราทำกันเองได้หมด จะเหลืออะไรเราแค่เปลี่ยนจากชาวนาไปเป็นคน ขายเอง ปริมาณข้าวเท่าเดิม ดีซะอีกจะได้ช่วยแบ่งเบาโรงสีพวกส่งออก ไม่ต้องขาดทุนไง เห็นบอกว่าทำแล้วขาดทุน ชาวนาเราต้องเปลี่ยนแปลงเพราะตอนนี้เท่าที่ผมเห็น หากินกับชาวนาเยอะมากๆ

 

"ปุ๋ย ยา โรงสี ส่งออก รถบรรทุก รถเกี่ยว แม้แต่คนที่เป็นสมาคมบางสมาคม ยังหากินกับชาวนาเลย ไม่เอาประโยชน์ ของชาวนาเป็นหลักเลย อยากเป็น ผู้นำชาวนาแต่ไม่รับฟังความเห็น พอผมถาม ขอคำชี้แจงก็หาว่า อคติอีก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้จากชาวนาเราเอง  ถ้าทำได้แบบที่ผมบอก ชาวนาจะไม่มีส่วนแบ่งจากกลุ่มคนพวกนี้เลย"

 

ส่วนตลาดจะอยู่ที่ผู้ผลิตโดยตรงก็คือ "ชาวนา" เพราะชาวนาลงมาขายเอง เท่าที่มอง เขากลัวที่ชาวนามาทำกันเอง พวกโรงสี ส่งออก แน่นอน  ทีมยุทธศาสตร์ การตลาดเราต้องแข็งแกร่ง ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์รักษาคุณภาพ ข้าวให้ดี

 

"ผมคิดให้ทั้งประเทศไม่ใช่แค่จังหวัดตัวเองเหมือนบางคนที่มีอำนาจแล้วเอางบไปทำที่จังหวัดตัวเอง"