กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันเมกะโปรเจคต์อย่าง โครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่า3แสนล้านบาท ที่จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นในอนาคต หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าวางไว้จะช่วยลดการจราจรติดขัดทางทะเลบริเวณช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางในการขนส่งสินค้าที่มีความหนาแน่นและแออัดอยู่บ่อยครั้ง
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลโครงการฯในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งออกเป็น 4 คณะอนุกรรมการฯ 1.คณะอนุกรรมการด้านท่าเรือ 2.คณะอนุกรรมการด้านถนนและระบบราง 3.คณะอนุกรรมการด้านกาลงทุน และ4.คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ เบื้องต้นในที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าการศึกษาโครงการฯ พบว่ามีปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามาใช้บริการผ่านโครงการฯเพิ่มขึ้น 20 ล้านที.อี.ยู และจะเริ่มดำเนินการออกแบบขนาดท่าเรือให้เหมาะสมกับโครงการฯ รวมทั้งจะมีการออกแบบแนวเส้นทางบริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้างฯ หากมีการศึกษาและออกแบบโครงการแล้วเสร็จจะเริ่มดำเนินการวางแผนด้านการลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้กำหนดระยะเวลาการศึกษางบประมาณในการลงทุนและรูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเสร็จภายในปี 2565 แต่ตามแผนในสัญญาของโครงการกำหนดระยะเวลาดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 เนื่องจากภายหลังการออกแบบแล้วเสร็จจะต้องดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในปี 2566 เป็นต้น
ขณะเดียวกันสนข.อยู่ระหว่างเตรียมลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนร่วมกับจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมของจังหวัด รวมทั้งสำรวจพื้นที่บริเวณโครงการฯ ภายในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะมีการโรดโชว์ในต่างประเทศให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศที่ให้ความสนใจแล้ว
ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการในที่ประชุมให้พิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการให้คลอบคลุมทุกกลุ่มต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นจากผลการศึกษามีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาในแลนด์บริดจ์มากถึงกว่า 20 ล้านที.อี.ยู ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และได้เน้นย้ำให้มีการออกแบบการเชื่อมต่อการขนส่งเพื่อลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งให้น้อยลงเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน ถือเป็นความท้าทายในการออกแบบของแลนด์บริดจ์ ที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
อย่างไรก็ตามการพัฒนาท่าเรือในโครงการฯดังกล่าวจะมีการพิจารณาการนำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาช่วยในการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเกิดจากกิจกรรมภายในท่าเรือ และทำให้การขนส่งระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่งเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ลดปัญหาการเสียเวลาที่เกิดจากการบริหารจัดการด้วยคน รวมไปถึงให้มีการศึกษากฎหมายและสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกฎหมายและบริบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน แลนด์บริดจ์ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน