“คมนาคม” ดัน แลนด์บริดจ์-MR-MAP ดึงต่างชาติร่วมทุน

09 ก.ย. 2564 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 10:52 น.

“คมนาคม” เดินหน้าศึกษาแลนด์บริดจ์-MR-MAP ดึงต่างชาติร่วมลงทุน บูมขนส่งภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถทั้ง 4 มิติ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการร่วมกล่าวปาฐกถาในงาน “ABLF Talks Live Virtual Conclave” รูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “The Long Road to Economic Stability” (เส้นทางสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ) ว่า สำหรับคมนาคมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้านโลจิสติกส์และคมนาคมขนส่ง สามารถขนส่งและกระจายสินค้าไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ผ่านโครงการสำคัญ คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์ (Southern Land Bridge) ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่านจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร และในอนาคตจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออกไกลโดยเส้นทางดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง ส่งผลให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาค 

“คมนาคม” ดัน แลนด์บริดจ์-MR-MAP ดึงต่างชาติร่วมทุน

ทั้งนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถทางด้านบก ราง อากาศ ยังคงเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR–Map) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาบุคลากรด้านการบินสู่ระดับสากล เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทย

“คมนาคม” ดัน แลนด์บริดจ์-MR-MAP ดึงต่างชาติร่วมทุน

อย่างไรก็ตามยังนำเทคโนโลยีนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ โครงการ M-Flow (การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น) การติดตั้ง GPS บนรถโดยสารสาธารณะ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานระบบควบคุมจราจรทางอากาศ (TMCS) และทางน้ำ (VTS) รวมถึงการนำยางพารามาใช้ในการลดอุบัติเหตุทางถนน (Rubber Fender Barrier) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ