ส่องไฮไลท์ไทยเจ้าภาพประชุมเอเปค ดัน ศก.BCG ดึงท่องเที่ยว-ลงทุนเข้าประเทศ

10 ธ.ค. 2564 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2564 | 13:32 น.

โหมโรงไทยเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 65 พาณิชย์-เอกชน เปิดไทม์ไลน์พร้อมโชว์ไฮไลท์งานเบื้องต้นตลอดทั้งปี เล็งเป้าขับคลื่อน 21 เขต สู่เศรษฐกิจ BCG พร้อมกรุยทางจัดทำ FTA ใหญ่สุดในโลกภายใต้บริบทใหม่หวังผลพลอยได้โปรโมตท่องเที่ยว ลงทุนดันเศรษฐกิจไทยฟื้น

 

 วันที่ 12 พ.ย.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC/เอเปค) ปี 2565 ถือเป็นการคิกออฟเปิดฉากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอปคที่มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ในครั้งนี้ไทยจัดภายได้แนวคิดหลัก (Theme) “OPEN, CONNECT, BALANCE” หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”

 

 

"ชะลอม"ตราสัญลักษณ์การประชุมเอเปค 2022 ประเทศไทย

 

 

โหมโรงจากวันที่ 1-3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (ISOM) แบบพบหน้าอย่างไม่เป็นทางการที่ จ.ภูเก็ต และในปี 2565 จะมีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ระดับรัฐมนตรีการค้า ระดับผู้นำภาคเอกชนของเอเปคตลอดทั้งปี รวมถึงการจัดประชุมระดับผู้นำเอเปคในช่วงปลายปี ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศการเป็นเจ้าภาพของไทยในครั้งนี้ ด้านสารัตถะของการประชุมจะมุ่งผลักดันการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเอเปคเข้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุลผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model

 

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมฯได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานหลัก และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยจะมีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่เทคนิคตลอดทั้งปี 2565 กว่า 10 ครั้ง เป้าหมายเพื่อใช้เป็นเวทีในการหารือเพื่อการขยายการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และบริการในภูมิภาค

 

อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม

 

นอกจากนี้ยังเตรียมจัดสัมมนาใหญ่ 2 งานในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ 1.งานสัมมนาเพื่อระดมความเห็นของภาคเอกชนเอเปคต่อแผนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกในทุกด้าน ตามเป้าหมายโบกอร์ 1994 และวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์โควิด และโลกในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะได้เห็นว่า FTAAP ในยุค Next Normal ควรจะออกมาอย่างไร โดยจะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง และครอบคลุมรอบด้าน 2.งานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการส่งเสริมให้ SMEs ของเอเปค ดำเนินธุรกิจด้วย BCG โมเดล ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับวาระแห่งชาติของไทยที่กำลังเร่งผลักดัน

 

 “ผลสรุปจากทั้ง 2 เวทีสัมมนาข้างต้น จะถูกนำเสนอและรายงานต่อเวทีประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของเอเปคที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกัน รวมถึงนำเสนอในเวทีการประชุมระดับผู้นำเอเปคช่วงเดือนพฤศจิกายนด้วย และจะเป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของผู้นำต่อไป”

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการจัดประชุม ABAC 2022 จำนวน 4 ครั้ง คู่ขนานไปกับการประชุมของภาครัฐ ได้แก่ การประชุมที่สิงคโปร์ แคนาดา จีน และไทย (ช่วงปลาย ต.ค.ถึงต้นพ.ย.) ทั้งนี้เพื่อระดมสมองภาคธุกิจเอกชน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในการเตรียมรับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของโลก การได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้จะทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากขึ้น และช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย

 

พจน์  อร่ามวัฒานนท์

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 เผยว่า การประชุม APEC CEO Summit จะมีขึ้นช่วงปลายเดือน พ.ย. ถึงต้นเดือน ธ.ค.2565 ก่อนที่จะมีการประชุมผู้นำเอเปค ถือเป็นอีกไฮไลท์หนึ่ง โดยจะมีการเชิญผู้นำภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำของไทยและจาก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 1,000 คน และจะเชิญผู้นำจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมงานเพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษ/แสดงวิสัยทัศน์ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ว่าจะนำพา 21 เขตเศรษฐกิจให้ก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 ไปได้อย่างไร

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3739 วันที่ 12-15 ธันวาคม 2564