ทั้งนี้ได้เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก รวมถึงในไทย ส่งผลให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวน สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจของทั่วโลกอาจจะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ในมุมมองภาคเอกชน เศรษฐกิจแลการส่งออกซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุด (7 ธ.ค.64) ทาง สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 15% (จากเดิมคาดขยายตัว 12-14%) และคาดการณ์ปี 2565 จะขยายตัวได้ 5-8% หลังจากยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีอัตราการขยายตัว 15.65%
ปัจจุบันการส่งออกถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงคาดการณ์ได้ว่า หากการส่งออกสามารถเติบโตได้ตามเป้า จะส่งผลต่อเนื่องให้ GDP ปี 2564 สามารถขยายตัวได้ที่ราว 0.7 – 1%
สำหรับการที่จะส่งออกให้เติบโตถึงระดับ 15-16% นั้นมีความเป็นไปได้แต่ต้องไม่มีอุปสรรคในเรื่อง 1.การบริหารด้านการขนส่งระหว่างประเทศเพราะในปัจจุบันการหาระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์ยังมีการขาดแคลนอยู่ทำให้การส่งออกต้องเลื่อนและล่าช้า 2.การขาดแคลนแรงงานหลังจากมีการเปิดประเทศแรงงานในภาคบริการและขนส่งมีความต้องการมากขึ้นทำให้แรงงานในระบบขาดแคลนอย่างมากในภาคการผลิตคาดการณ์จะขาดแคลนประมาณ 400,000-500,000 คน ทำให้การผลิตไม่เป็นไปอย่างคาดหวังโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสิ่งทอที่ใช้แรงงานเข้มขัน
สำหรับมุมมองปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในปี 2565 ที่สำคัญประกอบด้วย 1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ อาทิ ยุโรป ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ในวงกว้าง และเกิดกำลังความสามารถในการรับมือของสาธารณสุข เนื่องจากเมื่อเกิดการแพร่ระบาดส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ ล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักหรือมีการชะลอตัวลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การผลิต การขนส่ง โดยในท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สามารถขยายตัวมากขึ้นได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
2.ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ จากการขาดแคลนตู้สินค้าซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าระวางเรือทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัน ซึ่งกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค
3.วิกฤติพลังงานของประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไปทั่วโลก 4.หนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ และความคล่องตัวของเงินทุนโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs มีจำกัด ทำให้ภาคการบริโภคของเอกชนยังคงซบเซา
5.การขาดแคลนแรงงาน จากการปิดประเทศส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศให้ไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคส่งออกซึ่งปัจจุบันเป็นปัจจัยให้ในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ จึงจะยิ่งส่งผลซ้ำเติบให้เศรษฐกิจมีการหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่านำเข้าแรงงานสูงมากขึ้นจากเดิมประมาณ 15,000 บาทต่อคน จะปรับเพิ่มเป็น 30,000 บาทต่อคน เนื่องจากต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อโควิด และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในระหว่างที่แรงงานต่างด้าวกักตัว
6.เงินเฟ้อ จากการที่ต้นทุนสินค้าและราคาของต่าง ๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากประมาณ 10-20% ทำให้ในปี 2565 ต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ในขณะที่ค่าแรงจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยสนับสนุนหรือปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยปี 2565 ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากมีการเปิดประเทศ 2.การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ภาคการผลิตกลับมาฟื้นตัวได้โดยผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
3.การขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯและการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศส่งออกตลาดรองเช่น อินเดีย ปากีสถาน อาเซียน และตะวันออกกลาง และ 4.การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง รวมถึงอีกหลายมาตรการของภาครัฐที่กำลังทยอยออกมาในปลายปีนี้
“สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2565 ในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 5% บนพื้นฐาน Global demand ยังคงเติบโตอยู่ แต่อาจแผ่วลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การกระจายวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศและทั่วโลกและไม่มีการระบาดที่รุนแรงเพิ่มเติม ขณะที่หลายอุตสาหกรรมส่งออกที่ เติบโตในระดับ 2 หลักในปี 2564 ปี 2565 อาจจะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากฐานปี 2564 ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่น่ากังวล คือ สถานการณ์ปัญหาค่าระวางเรือ คาดว่าน่าจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทำให้ผู้ประกอบการต้องลดกำลังการผลิตทั้งที่มีอุปสงค์จากต่างประเทศอยู่ และแนวโน้มการระบาดของเชื้อ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน
ขณะที่มีปัญหา/อุปสรรคการทำธุรกิจและการส่งออกที่ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน ได้แก่ 1.ค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในปี 65 โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม และปัญหา Space and Container allocation
2.การขาดแคลนแรงงานในภาคการอุตสาหกรรม ก่อสร้างและบริการ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย 2.4 ล้านคน แบ่งเป็นเมียนมา ร้อยละ 62 (1.5 ล้านคน) กัมพูชา ร้อยละ 20 (4.6 แสนคน) และลาว ร้อยละ 9 (2.18 แสนคน) จากการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวของนายจ้างทั้งประเทศ พบว่าต้องการแรงงานต่างด้าว 4-5 แสนคน เป็นที่มาของการจัดทำ MOU นำเข้าแรงงาน
ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งรัดในการผลักดันแรงงานเข้ามาในระบบให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของการส่งออก ให้ยอดส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ในประเทศขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จากที่ผ่านมาเข้าระบบเพียง 1.6-2 แสนคน นอกจากนี้ต้องการให้เพิ่มรูปแบบการจ้างงานลักษณะพาร์ตไทม์ ระยะเวลาจ้างไม่ต่ำ 4 ชั่วโมง เป็นต้น
3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสินค้ามีความผันผวนต่อเนื่องในปีหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น (Demand surge) 4.ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป สูงขึ้นเป็นเท่าตัวรอบ 5-10 ปี ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจสร้างปัญหาเชิงระบบทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก หากปัญหาชะงักงันอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น
5.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อคดาวน์จากการกลับมาระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น จีน สิงคโปร์ อังกฤษ รัสเชีย เป็นต้น และการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสโอมิครอน ที่มีการแพร่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก หากไม่สามารถควบคุมได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนเช่นตอนที่พบการติดเชื้อโควิดช่วงแรก
และ 6.กระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับ New Normal อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก (Vat Refund) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาปัญหา/อุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และการขับเคลื่อนภาคการส่งออกไทย ขอให้ภาครัฐได้เร่งดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม