นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงินลงทุนราว 8 หมื่นล้านบาท เบื้องต้น กทพ.จะดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกก่อน คือ ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 เบื้องต้นจะต้องมีการปรับแบบก่อสร้างใหม่ ในช่วง 2 กม.สุดท้ายที่จะไปเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3(MR10) ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง(MR–Map)
ขณะเดียวกันกทพ.ต้องทำการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ใหม่ เฉพาะในส่วนของช่วง 2 กม.ที่ปรับแบบเท่านั้น เนื่องจากในช่วงเดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)ได้เห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภาพรวมทั้งโครงการฯแล้วเสร็จ เบื้องต้นจะมีการปรับแบบก่อสร้างใหม่ ทำให้ระยะทางก่อสร้างในเฟสแรก ปรับลดลง จาก 19 กม. เหลือ 17 กม. หรือปรับลดลง 2 กม. ส่งผลกรอบวงเงินลงทุนรวมปรับลดลงจาก 2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.9 หมื่นล้าน หรือลดลง 1 พันล้านบาท
รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทพ.กำหนดวงเงินลงทุนก่อสร้าง เฟส1 ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวม 19 กม. แต่ภายหลังปรับแบบระยะทาง ปรับลดลง 2กม.เหลือ 17 กม. ส่งผลให้กรอบวงเงินลงทุน ปรับลดลงจาก 2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.9 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1 พันล้านบาท โดยแบ่งวงเงินออกเป็น 2 ส่วน คือค่าก่อสร้าง 1.74 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกทพ.จะลงทุนเองทั้งหมด และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังถึงแหล่งเงินทุน และกรอบวินัยการเงินการคลังเกี่ยวกับสถานะหนี้สาธารณะของไทย
“จะใช้รูปแบบการออกพันธบัตรระดมทุน วงเงิน 1.74 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดในขณะนี้ คือมีอัตราดอกเบี้ยที่เพียง 2-3% เท่านั้น รวมทั้งเงินทุนที่ กทพ.ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) ขณะนี้ได้นำมาใช้จ่ายดำเนินโครงการอื่นๆหมดแล้ว”
ทั้งนี้งานออกแบบรายละเอียดก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ช่วงเม.ย.ปี 2565 โดยระหว่างนี้ต้องเร่งทำ EIA ช่วง 2 กม. คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6เดือน ซึ่งจะทำให้โครงการล่าช้าจากแผนเดิม ตั้งเป้าจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในช่วง พ.ค. 2565 ช้ากว่าแผนเดิมที่จะเสนอภายในปีนี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขบวนการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วงก.ค.2565 -ธ.ค.65 คาดว่าเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างได้ในช่วง เม.ย.2566 เริ่มงานก่อสร้าง ม.ค.2567 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ธ.ค. 2569 ช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะเปิดบริการในปี 2568”
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก และสระบุรี รวมทั้งเป็นการเพิ่มโครงข่ายทางด่วน เพื่อให้ผู้ใช้รถที่มาจากภาคอีสาน และสระบุรี สามารถเดินทาง เข้าและออกกรุงเทพมหานคร ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น