นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแม้โครงการ จำนำข้าว จะยุติลงหลายปีแล้ว แต่ภาระงบประมาณยังคงมีต่อ ซึ่งทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงบประมาณได้ตั้งงบชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีภาระหนี้จากโครงการดังกล่าวที่ต้องชำระคืนให้กับธ.ก.ส. จำนวน 1 แสนล้านบาท คาดว่าสำนักงบประมาณจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้ ปีละ 10-20% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปีจึงจะชำระหนี้หมด
ขณะที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เตรียมปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ซึ่งยังมีข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ได้จากการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรัง ของรัฐบาลที่ผ่านๆมา ที่รอการระบายอีกประมาณ 220,000 ตัน ทั้งหมดเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ต้องขายเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเท่านั้น คนและสัตว์บริโภคไม่ได้ โดย อคส. ตั้งเป้าหมายระบายให้หมดภายในเดือน ก.ย.65 เมื่อเปิดให้มีการระบายจนหมดแล้ว จะทำให้สามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำได้ แล้วถึงจะทราบว่ามีผลขาดทุนเท่าไร
โดยเบื้องต้น ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ปีการผลิต 2554-57 ซึ่งได้มีการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว รวม 1,143 คดี และผลขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมผลขาดทุนจากการที่ต้องขายข้าวในราคาต่ำในการประมูลข้าวสารในสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวยิ่งเก่า ยิ่งขายได้ราคาต่ำ รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่รัฐต้องจ่าย เช่น ค่าเช่าคลังสินค้าเพื่อฝากเก็บข้าวสารในสต๊อก เป็นต้น
สำหรับโครงการประกันรายได้ ที่รัฐบาลจ่ายเฉพาะเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันและราคาตลาด โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยไม่มีภาระเรื่องการเก็บสต๊อกเพราะเกษตรกรเป็นผู้เก็บเพื่อจำหน่ายเอง ขณะนี้อยู่ในช่วงการจ่ายเงินสวนต่างฯ งวดที่3-7 (9-14 ธ.ค.) ส่วนงวด ที่เหลือ คือ 8-33 จะทยอยจ่ายในลำดับต่อไป ซึ่งจะมีพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทันทีกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน