บางจากหนุน Blue Carbon หญ้าทะเล กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของประเทศ

16 ธ.ค. 2564 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 18:31 น.

บางจากฯ หนุนคณะประมง ม.เกษตรฯ ศึกษา Blue Carbon ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกครั้งแรกของประเทศ นำร่องเกาะหมาก-เกาะกระดาด จ.ตราด

 

รายงานข่าวเผยว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยมี Blue Carbon เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ
โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก”

 

ทั้งนี้มีนางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน  ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนางสาวณินทิรา อภิสิงห์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและมาตรฐานองค์กร บริษัท บางจากฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม

 

บางจากหนุน Blue Carbon หญ้าทะเล กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของประเทศ

 

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากเป้าหมายการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 บางจากฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจคาร์บอนต่ำ

 

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการสนับสนุนแนวทางการดูดซับคาร์บอนผ่านระบบนิเวศทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ เช่น การปลูกป่าไม้บนบก ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น

 

บางจากหนุน Blue Carbon หญ้าทะเล กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของประเทศ

 

สำหรับการสนับสนุนโครงการศึกษาความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูงมาก โดยตั้งเป้าการทำงานในบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด จัดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการศึกษาแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังของภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอนในทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ เกาะหมากยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในฐานะพื้นที่ต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนเข้มแข็งแห่งหมู่เกาะภาคตะวันออกของไทยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่ตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำได้อีกด้วย

 

บางจากหนุน Blue Carbon หญ้าทะเล กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของประเทศ

 

โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งนี้ยังจะมีส่วนช่วยสนับสนุนดูแลฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบางจากฯ ยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนการดูแลธรรมชาติทางทะเลที่ยังประโยชน์ต่อการดูดซับคาร์บอนได้อย่างทวีคูณหลายต่อหลายเท่า ส่งผลดีต่อภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะโครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่ดีต่อสิ่งแวดล้อมจากการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังดีต่อสังคมจากการศึกษาวิจัยอย่างครบวงจรที่ครอบคลุมการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าทะเล การลดก๊าซเรือนกระจก และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ