ม.หอการค้าฯฟันธง 4 เรื่องใหญ่ขวางทาง เป้าโลกร้อนไม่เกิน1.5 องศาไม่ถึงฝั่ง

17 ธ.ค. 2564 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2564 | 13:09 น.

ม.หอการค้าฯ ฟันธงเป้าลดโลกร้อนอุณหภูมิสูงไม่เกิน 1.5 องศาไปไม่ถึงฝั่น หลังจีน-อินเดียไม่รับปากเลิกใช้ถ่านหินและยังอุดหนุนพลังงานฟอสซิลต่อ ขณะ 4 ชาติใหญ่ไม่ตกลงลดก๊าซมีเทน เงินทุนหนุนลดโลกร้อน 1 แสนล้านดอลล์ยังต่ำกว่าเป้า แนะ 6 มาตรการรัฐบาลไทยดันเป้าหมายให้สำเร็จ

 

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties : COP) ครั้งที่ 26  หรือ COP26 ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ณ ประเทศสกอตแลนด์ มี 195 ประเทศเข้าร่วม ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือการลดอุณหภูมิโลกที่จะไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG) 45% ในปี 2030 และแต่ละประเทศส่วนใหญ่มีแผนจะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2050 ยกเว้นจีนในปี 2060 และอินเดียในปี 2070 อย่างไรก็ดีมีหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์ว่าเป้าหมายต่าง ๆ ข้างต้นอาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายสุดท้ายการลดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสของ COP26  เมื่อพิจารณาจากแผนการลดภาวะเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (NDCs) แล้ว มองว่าจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน และไม่น่าจะเกิดขึ้น ในทางกลับกันอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 องศาแทน ผลจาก 1.ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ของโลก คือ จีนและอินเดียไม่ได้เลิกใช้ถ่านหินทันที จากเดิมตกลงกันว่าจะเลิกทันที แต่เปลี่ยนเป็นการลดแทน และยังอุดหนุนพลังงานฟอสซิลต่อไป

 

2.จีน อินเดีย รัสเซีย และออสเตรเลียไม่ลงนามข้อตกลงการลดก๊าซมีเทน 3.เงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังต่ำกว่าเป้าที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตั้งเป้าไว้ว่าจะครบในปี 2020 4.ข้อตกลงจีน-สหรัฐฯ ที่จะการแก้ปัญหาโลกร้อนอาจจะไม่สำเร็จเพราะก่อนหน้านี้ในปี 2014 เคยมีข้อตกลงเรื่อง “การใช้พลังงานสะอาด” แต่ก็ไม่สามารถทำให้โลกร้อนลดลงได้

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

 

“อย่างไรก็ตาม COP26 ถือว่ามีความก้าวหน้ามากพอสมควรในบางเรื่อง เช่น ข้อตกลงหยุดตัดไม่ทำลายป่า ข้อตกลงการลดก๊าซมีเทน แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา”

 

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายต่าง ๆ ของ COP26 ข้างต้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ 1.แต่ละประเทศต้องมีแผนการลด GHG รายปี รายอุตสาหกรรม แล้วแชร์เป้าหมายการลดร่วมกัน 2.ต้องจัดทำฐานข้อมูลของภาคการผลิตรายประเทศว่ามีการปล่อยก๊าซทำให้เกิด GHG 3.ไทย อาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาขาดเงินทุนและเทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานสะอาด เพราะส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิล ดังนั้นจำเป็นต้องมีเงินทุนและเทคโนโลยี 4.ต้องมีกฏหมายบังคับเหมือนในยุโรปที่ออกเป็นกฎหมาย และ 5.ประเทศ ไทยต้องแก้ปัญหาและบังคับอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น รถควันดำ ไทยยังแก้ไม่ได้

 

 

ม.หอการค้าฯฟันธง 4 เรื่องใหญ่ขวางทาง เป้าโลกร้อนไม่เกิน1.5 องศาไม่ถึงฝั่ง

 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 ตามที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปประกาศไว้ในเวที COP26 มีข้อเสนอแนะดังนี้คือ 1.ระดับประเทศต้องมีกฎหมาย และบังคับให้แต่ละภาคการผลิตจัดทำและรายงานก๊าซแต่ละประเภทที่ปล่อยออกมา 2.มีมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อให้ลดก๊าซเรือนกระจก 3.ภาคการผลิตต้องติดฉลากสินค้าเพื่อบ่งชี้ถึงปริมาณของการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (ฉลากคาร์บอน /carbon footprint)

 

4.ไทยเป็นผู้นำในการเจรจากับประเทศอาเซียน แบ่งภาระ GHG ของแต่ละประเทศ ตามรายอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมใดของประเทศอาเซียนที่ปล่อยก๊าซมากต้องรับภาระการลดลงมาก 5.ภาคการผลิตต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตตามมาตรฐานสากล เช่น อุตสาหกรรมยางปรับตามมาตรฐาน FSC (การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนจากป่าปลูก ไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปรับตามมาตรฐาน RSPO (การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) และ 6.สนับสนุนให้ภาคเกษตรนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3740 วันที่ 16-18 ธันวาคม 2564