ปี65บขส. ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารไปชานเมืองยกแผง

18 ธ.ค. 2564 | 02:59 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2564 | 13:31 น.

บขส.เปิดแผนย้าย ยกเครื่อง ”สถานีขนส่งบขส.” ไปอยู่ชานเมือง แก้รถติด ลุยสร้าง สถานีขนส่งสายใหม่ ที่รังสิตใหม่เชื่อมโยงอีอีซี โดยรถไฟฟ้า  จุดพลุ ขนส่ง “เอกมัย” ไปอยู่บนที่ดินไบเทค บางนาติดBTSสีเขียว หมอชิตใหม่คืนท่ี่ให้รฟท. 14 ไร่ กลับหมอชิตเก่ายังไร้กำหนด

 

จากปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมืองและหากมีศูนย์กลางเดินทางขนาดใหญ่ อย่างสถานีขนส่งแต่ละภาค ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ตั้งให้บริการ จะเป็นการซ้ำเติมการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้รถติดขัดเป็นเวลานาน

 

ประกอบกับที่ดินแต่ละแปลงมีศักยภาพสูง อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เหมาะนำออกพัฒนาเชิงพาณิชย์มากกว่า  อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บขส.ประสบความสำเร็จ จากการย้ายสถานีขนส่งสายใต้ไปอยู่พุทธมณฑลสาย1และคาดว่าปี2565 สามารถทยอยย้ายสถานีขนส่งในพื้นที่อื่นๆตามไป

 

 

 นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.ระบุว่า ภายกลางปี 2565 บขส.ต้องคืนพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯหรือสถานีหมอชิตใหม่ ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชรให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ประมาณ 14 ไร่ ทำให้เหลือพื้นที่ 50 กว่าไร่ มีแผนจะทำเป็น “เซฟตี้โซน” พร้อมปรับปรุงพื้นที่ภายในสถานีใหม่ ให้มีความทันสมัยสอดรับกับพื้นที่ในปัจจุบัน หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนรถโดยสารมาใช้บริการน้อยลง ตอนนี้มีรถโดยสารขนาดใหญ่บางเส้นทางและรถตู้โดยสารบอกเลิกสัญญาไปประมาณ 30%

ปี65บขส. ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารไปชานเมืองยกแผง

สำหรับแผนการย้ายสถานีไปยังสถานีหมอชิตเก่าอยู่ติดสถานีบีทีเอสหมอชิตนั้น ในเบื้องต้นมีข้อสรุปร่วมกับกรมธนารักษ์แล้ว จะย้ายการเดินรถโดยสารขนาดเล็กหรือมินิบัส ใช้พลังงานไฟฟ้า(EV)  วิ่งระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร เข้าใช้บริการพื้นที่สถานีขนส่งอยู่ในโครงการคอมเพล็กซ์ของบริษัท บากกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT ผู้รับสัมปทานพัฒนาโครงการ ซึ่งได้กันพื้นที่ไว้ให้ตามข้อตกแล้วประมาณ 112,000 ตารางเมตร และบขส.ได้ขอสงวนสิทธิ์การใช้พื้นที่ไปแล้ว ส่วนจะย้ายไปเมื่อไหร่นั้นยังตอบไม่ได้

“เมื่อโครงการของBKTแล้วเสร็จ จะทำให้บขส.มีสถานีขนส่ง 2 แห่งในการปล่อยรถจากกรุงเทพฯคือที่หมอชิตใหม่ที่เราจะเช่าที่ดินรถไฟต่อไป เพราะจุดนี้มีความสะดวกในการเดินทางใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางของระบบราง ส่วนอีกแห่งจะอยู่ที่หมอชิตเก่าเป็นจุดปล่อยรถระยะสั้น ตอนนี้เรารอรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ชัดเจนจากBKT”

 

นายสัญลักข์กล่าวอีกว่า ด้านสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ยังคงอยู่ที่เดิม ส่วนสถานีขนส่งสายใต้เก่าอยู่ตรงปิ่นเกล้า เนื้อที่ 15 ไร่  ตอนนี้เหลือเฉพาะรถตู้ที่มาใช้บริการ อยู่ระหว่างพิจารณาจะนำที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ในระยะยาวเพื่อชดเชยรายได้ค่าโดยสารที่หายไป

 

ขณะที่สถานีขนส่งเอกมัย เนื้อที่ 7 ไร่ ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส ในอนาคตจะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้เช่นกัน อยู่ระหว่างทำการศึกษา อาจจะต้องย้ายสถานีขนส่งเอกมัยไปอยู่ที่อื่นแทน  ลดปัญหามลพิษจากฝุ่นPM2.5  และนำที่ดินมาประมูลให้เอกชนพัฒนาโครงการ

 

ล่าสุดมีข้อเสนอจากทางศูนย์แสดงสินค้าไบเทค จะให้พื้นที่เพื่อให้บขส.จอดรถโดยสารได้ จากการลงไปดูพื้นที่ถือว่าเป็นพื้นที่มีความเหมาะสม ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส การเดินทางสะดวก ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2566

 

หากสำเร็จจะเป็นความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทางไบเทคได้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการจอดรถ และได้ผู้โดยสาร ทางบขส.ก็ได้พื้นที่จอดรถ รองรับการย้ายสถานีขนส่งเอกมัย

 

อีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนาสถานีขนส่งรังสิตเพิ่ม  เพื่อรองรับการเดินรถเส้นทางใหม่ โดยอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ดูแลพื้นที่อีอีซี จะเปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้าจากสถานีขนส่งรังสิตไปยังพื้นที่อีอีซี กำลังทำประมาณการผู้โดยสาร คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2566

 

"ต้องคิดแผนสร้างรายได้ระยะยาว เพราะเรามีเงินสดเหลืออยู่ในมือประมาณ 1,000 ล้านบาท ใช้ได้อีก 1-2 ปี ตอนนี้จากสถานการณ์โควิดทำให้รายได้เราหายไป 80% และปี 2564 น่าจะเป็นปีแรกที่เราขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่ตั้งบขส.มา 91 ปี คาดว่าจะขาดทุนร่วม 1,000 ล้านบาท"

 

นายสัญลักข์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในปี 2565 บขส.จะรุกธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ โดยเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทบทวนให้บขส.สามารถดำเนินการขนส่งพัสดุภัณฑ์ได้ตามกฎหมาย รองรับตลาดขนส่งสินค้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในแผนจะเปิดศูนย์กระจายสินค้าข้ามภาค เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ เพิ่มการอำนวยความสะดวกให้สามารถรับส่งพัสดุภัณฑ์แบบข้ามภาคได้ โดยจะนำร่องก่อน  4 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น

 

เนื่องจากมีเส้นทางเชื่อมต่อเมืองสำคัญในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จะช่วยส่งเสริมการขนายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ รวมทั้งเส้นทางคมนาคมขนส่งทางถนนสามารถใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบและส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาคได้