บิ๊กทุนสนพีพีพี บขส.พลิกโฉมสถานีขนส่งเอกมัย 7 ไร่ เป็นศูนย์ธุรกิจ โรงแรม ศูนย์ การค้า ส่วนใต้ดิน พัฒนาเป็นโซนจอดรถโดยสาร มอบจุฬาฯศึกษาเปิดเฮียริ่ง หลังพื้นที่โดยรอบเป็นดงมิกซ์ยูสราคาที่ดินพุ่ง 2 ล้านบาทต่อตร.ว.
มีดีเวลอปเปอร์จำนวนไม่น้อยรอเจ้าของที่ดินคายทำเลทองฝังเพชร ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสำคัญๆ ล่าสุด สถานีขนส่งภาคตะวันออก (เอกมัย) ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สังกัดกระทรวงคมนาคมว่าจ้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาพื้นที่ 7 ไร่เศษ เพิ่มศักยภาพ พัฒนามิกซ์ยูสรูปแบบรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์ การค้า ฯลฯ รองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว คนสัญจรไปมา คนอยู่อาศัยในย่านนั้น
หลังจากทำเลนี้ถูกมองเป็นย่านอยู่อาศัยแหล่งงาน แหล่งช็อปปิ้ง แต่ปัจจุบันยังใช้ที่ดินไม่ตรงกับศักยภาพที่มี ทำให้ขนส่งแห่งนี้ ถูกโอบล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานตึกสูงระฟ้า ขณะราคาที่ดินทะยานไปกว่า 2 ล้านบาทต่อตารางวา อีกทั้งยังเป็นทำเลเชื่อมต่อกับซอยทองหล่อมินิโตเกียวเมืองไทย มีนักธุรกิจญี่ปุ่นพักอาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเวลานี้
จากการให้สัมภาษณ์ของ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า เอกชนให้ความสนใจ ร่วมพัฒนาที่ดินทำเลทองย่านเอกมัย ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เนื้อที่กว่า 7 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสถานีขนส่งเดินรถภาคตะวันออก โดย อนาคต กำหนดให้เป็นศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ให้เอกชนเช่าระยะยาว 30-50 ปี เนื่องจากพื้นที่โดยรอบเปลี่ยน แปลงไปมาก ราคาที่ดินขยับสูง 2 ล้านบาทต่อตารางวา ดูได้จาก ที่ดินหัวมุมซอยเอกมัยตรงข้ามสถานีขนส่งฯ เดิมเป็นร้านบ้านใร่กาแฟ ซึ่งเจ้าของไม่ต่อสัญญา ปัจจุบันมีเอกชนเจรจาขอซื้อหลายรายแต่เจ้าของยังไม่ขายในเวลานี้
“ต่อไปทำเลนี้จะกลายเป็นย่านธุรกิจโซนตะวันออก สำคัญอีกแห่งต่อจากใจกลางเมือง เพราะเป็นทั้งฮับการเดินทาง การอยู่อาศัยและแหล่งช็อปปิ้งชั้นนำในเวลาเดียวกัน”
สอดคล้องนายไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าโครงการศึกษาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบขส.จ้างให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำที่ดินของบขส. บริเวณพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีขนาดพื้นที่จำนวน 7 ไร่ 3 งาน 15 ตร.ว. โดยมีพื้นที่ก่อสร้างได้สูงสุด 119,616 ตร.ม. (รวม FAR Bonus) และพื้นที่ก่อสร้างที่เสนอ 119,270 ตร.ม. เพื่อพัฒนาเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร พื้นที่ร้านค้า สำนักงาน โรงแรมและที่จอดรถ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 5,362.2 ล้านบาท (NPV @ 10.11% ค่าเช่าที่ดิน+ส่วนแบ่งกำไร 10% เท่ากับ 1,686 ล้านบาท+ค่าก่อสร้าง 3,676.2 ล้านบาท)
โดยที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท บริเวณทางแยกเอกมัยใต้ (ปากซอยสุขุมวิท 63 ) ซึ่งบขส. มีแผนนำไปพัฒนาโครงการรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยบขส.เก็บค่าเช่าที่ดินสัญญา 30-50 ปี ส่วนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินจะเป็นผังสีนํ้าเงิน โดยอยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล FAR 8:1 สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยบริษัทเอกชน ผู้โดยสารรถบขส. นักท่องเที่ยว และประชาชนผู้อยู่อาศัยโดยรอบ
ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) กล่าวว่า สถานีเอกมัยปัจจุบันให้บริการและรองรับรถโดยสารในเส้นทางสายภาคตะวันออกเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งยังมีปรับขนาดรถให้บริการที่ขนาดเล็กลงมาในหลายเส้นทาง รถขนาดใหญ่และรถตู้ลดน้อยลงไป อีกทั้งหากเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกจึงอยู่ในศักยภาพที่จะบริหารจัดการปริมาณรถโดยสารของสถานีเอกมัยนี้ได้
โดยมีแผนพัฒนาโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส ชั้น 1-2 เพื่อบริการผู้โดยสาร ส่วนชั้น 3 ขึ้นไปอาจจะพัฒนาเป็นโรงแรม ร้านค้า ออฟฟิศสำนักงานให้เช่า ร้านค้า โดยเอกชนที่ร่วมลงทุนจะต้องนำเสนอรูปแบบและข้อเสนอให้บขส.พิจารณาว่าจะเสนอผลประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนต่อไป
อัพเดต รถไฟฟ้าทั่วกรุง
เส้นไหน...ใช้เมื่อไหร่
โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีรถไฟหลายเส้นทาง มีความคืบหน้าไปมาก
เริ่มตั้งแต่ รถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและสถานีกลางบางซื่อ กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการปี 2564
สัญญา 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท
สัญญา 2 งานก่อสร้างช่วงจตุจักร-รังสิต วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งการจัดหาตู้รถไฟฟ้า งานระบบอาณัติสัญญาณ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท
ตามด้วยโครงการของรฟม. รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ/ ช่วงหัวลำโพง-บางแค กำหนดทดลองเดินรถตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2562 และเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไปบริการด้วยรถขบวนพิเศษ 1 ขบวนมี 3 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 1,134 คนต่อขบวน
สัญญา 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ช่วงสนามไชย-ท่าพระ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 3 งานก่อสร้างทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 4 งานก่อสร้างช่วงท่าพระ-หลักสอง วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท
สัญญา 5 งานวางราง วงเงิน 5,153 ล้านบาท
สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สัมปทาน 33 ปี 3 เดือนวงเงินลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำหนดเปิดบริการปี 2565 คืบหน้า 31.46%
สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สัมปทาน 33 ปี 3 เดือน วงเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดบริการ ปี 2565 คืบหน้า 30.40%
สายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้า 32.12%
สัญญา 1 ออกแบบก่อสร้าง โครงสร้างใต้ดินช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-รามคำแหง 12 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
สัญญา 2 งานออกแบบก่อสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 3 งานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท
สัญญา 4 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ วงเงิน 9,999 ล้านบาท
สัญญา 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร วงเงินลงทุน 4,831 ล้านบาท
สัญญา 6 งานวางราง วงเงิน 3,690 ล้านบาท
สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต คืบหน้า 99.42% จะเปิดให้บริการช่วงหมอชิต-สถานีเซ็นทรัลลาดพร้าวในเดือนสิงหาคม 2562 ส่วนเปิดครบทั้งเส้นทางในปี 2563
สัญญา 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท
สัญญา 2 งานโยธาช่วงสะพานใหม่-คูคต วงเงิน 6,657 ล้านบาท
สัญญา 3 งานอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและจอดรถ วงเงิน 4,019 ล้านบาท
สัญญา 4 งานระบบราง วงเงิน 2,841 ล้านบาท
สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ระหว่างทดลองเปิดให้บริการ ส่วนกำหนดเปิดบริการเชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ชัดเจนของกรุงเทพมหานคร
สัญญา 1 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท
สัญญา 2 งานระบบราง วงเงิน 2,400 ล้านบาท
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,463 วันที่ 21-24 เมษายน 2562