นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2565 ภายใต้ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ และปัจจัยที่ต้องติดตามต่างๆ โดยมองว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลงและมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโคมิครอน ซึ่งศูนย์ฯได้วิเคราะห์ออกเป็นแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีถ้าโอมิครอน ระบาดในโลกไม่รุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 275,074 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเฉลี่ย 4.8% แต่กรณีถ้า โอมิครอน ระบาดในโลกอย่างรุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 262,991 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเฉลี่ย 0.2%
ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออกที่สำคัญ ในปีหน้า คือเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่คาดว่าการฟื้นตัวน้อยกว่าปี 64 , เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยในปี 2564 ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ,หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้นและแนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่มากขึ้น
ปัจจัยลบ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศจากสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ที่ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค นโยบาย Zero Covid ของจีน ,ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางสูง , ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น และปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption)
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องติดตามต่อในปีหน้า คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 รถไฟลาว-จีนที่อาจจะส่งผลต่อสินค้าไทยบางตัว รวมถึงนโยบายการเปิด ปิดประเทศของประเทศคู่ค้าหรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจเข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง สงครามการค้า เทคโนโลยี ค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และภาษีคาร์บอนตลาดยุโรปในปี 2566