ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา นำคณะวุฒิสภา และคณะผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดระนอง
เพื่อติดตามความคืบหน้าและรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยนายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นำคณะผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ต้อนรับ โดยมีผู้ว่าราชการอีก 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช ร่วมประชุมออนไลน์
นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นำเสนอความก้าวหน้าโครงการ SEC ในส่วนจังหวัดระนอง ซึ่งจำแนกเป็น 4 โครงข่ายคมนาคม กล่าวคือ
1. โครงข่ายคมนาคมทางถนนยกระดับเป็นถนน 4 ช่องจราจร สายชุมพร-ระนอง ตอน 1-4 ระยะทาง 84.770 กิโลเมตร ดำเนินการเสร็จแล้ว ตอน บ.ทรายแดง-บ.บางนอน ระยะทาง 17.750 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จ 16 มีนาคม 2565 นี้
ส่วนสายราชกรูด-พะโต๊ะ-หลังสวน ช่วงแยกราชกรูด-ต.พะโต๊ะ (กม. 30.00) จัดทำรายงาน EIA อยู่ระหว่างเสนอสนผ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาฯ สายระนอง-ราชกรูด-ตะกั่วป่า อยู่ระหว่างเสนอรายงาน EIA กำหนดขอตั้งงบเพื่อก่อสร้างในปี พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567
2. โครงข่ายคมนาคมทางอากาศโครงการที่สร้างแล้วเสร็จ 12 โครงการงบประมาณ 316.08 ล้านบาท เพื่อยกระดับความปลอดภัย และสมรรถนะการบริหารจัดการของสนามบิน
โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 โครงการ งบ 827,725,000 บาทประกอบด้วย 1. โครงการปรับปรุงขยายรันเวย์ จาก 2,000 เมตร เป็น 2,500 เมตร งบ 800 ล้านบาท ปีงบฯ 2567-2570 และ 2. โครงการจ้างออกแบบปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร งบ 27.7 ล้านบาท คาดออกแบบเสร็จต้นปี 2565
3. โครงข่ายคมนาคมทางนํ้า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างท่าเทียบเรือ 1 และ 2 ของท่าเรือระนอง เสร็จแล้ว รอง รับเรือตู้สินค้าขนาดไม่เกิน 12,000 เดทเวทตันได้
ทั้งนี้ จะพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ให้รองรับตู้ 499,226 TEUs ต่อปี รวม 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การปรับปรุง โดยท่าเทียบเรือที่ 1 (ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์) รองรับเรือสินค้าทั่วไป ขนาด 500 GT พร้อมกัน 2 ลำ และ ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 2 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือตู้สินค้า ขนาด 12,000 เดทเวทตัน
ระยะที่ 2 ก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือตู้สินค้าขนาด 12,000 เดทเวทตัน ก่อสร้างลานตู้สินค้าส่วนต่อขยาย (เริ่มดำเนินการปี 2582 และเปิดให้บริการ 2583)
4. โครงข่ายคมนาคมทางรางโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ชุมพร-ระนอง ปี 2560 สนข. ใช้งบ 30 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสม ทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 10 เดือน (พ.ค. 2560-ก.พ. 2561) มูลค่าลงทุน 45,844 ล้านบาท
แต่ผลของการศึกษาชี้ว่า โครงการฯไม่มีความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อมีการก่อ สร้างและเปิดให้บริการในปี 2568
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 15 ก.ย. 2563 ได้อนุมัติให้สนข. จ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้นฯ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ Land Bridge โดยได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา 6 บริษัท 1 มี.ค. 2564 วงเงิน 68 ล้านบาท เสร็จ 1 ก.ย. 2566
นอกจากโครงข่ายคมนาคมขนส่งแล้ว ระนองมีปัญหาพื้นที่เศรษฐกิจทับซ้อนเขตป่า จึงผลักดันแก้ปัญหาที่ดินกลางเมือง ดังนี้
1. แก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองจังหวัดระนอง โดยบริเวณพื้นที่อนุญาตการใช้ประโยชน์เดิม เนื้อที่ 520.86 ไร่ ด้วยการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ (บางส่วน) และส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์นำไปจัดให้ประชาชนเช่าตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด
ส่วนพื้นที่นอกแปลงอนุญาตเดิม เนื้อที่ 2,236 ไร่ ขอให้เร่งแก้ไขตามแนวทางข้างต้นเช่นกัน หรือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 พ.ย. 2561 ว่าด้วยการแก้ปัญหาที่อยู่และที่ทำกินในพื้นที่ป่าทุกประเภท
2. การจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงจังหวัดระนอง เพื่อรองรับการพัฒนา SEC จะเดินหน้าได้เมื่อแก้ปัญหาที่ดินข้างต้นได้แล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าใช้ทำประโยชน์ประกอบกิจการ
บุญเลื่อน พรหมประทานกุล/รายงาน
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23-25 ธันวาคม พ.ศ.2564