จับตาวิกฤตพลังงาน พ.ค.-ก.ค.65 ก๊าซในอ่าวไทยหาย 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

22 ธ.ค. 2564 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 16:00 น.

จับตาวิกฤตพลังงาน พ.ค.-ก.ค.65 ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหาย 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เหตุแหล่งก๊าซเอราวัณผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง หลังเชฟรอนฯ หมดสัญญาสัมปทาน ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นผลิตเกิดความล่าช้า ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทน ส่งผลราคาค่าไฟฟ้าพุ่ง

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากที่บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ผู้ชนะการประมูลสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC ) ในแหล่งเอราวัณ แปลง G1/61 เมื่อช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการและจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565
ตลอดระยะเวลาช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ปตท.สผ.พยายามที่จะขอเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามสัญญาพีเอสซีที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นับจากวันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไป แต่เกิดความล่าช้าจากการเจรจาในเงื่อนไขการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ และทำให้ไม่สามารถติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมได้ จึงส่งผลให้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้จากแหล่งเอราวัณจะลดลงเหลือราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่เคยผลิตก๊าซฯได้สูงสุดราว 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากช่วงรอยต่อจะผลิตก๊าซฯ ได้เพียง 5 แท่นผลิตกลาง จากปัจจุบันที่ผลิตได้ทั้งหมด 8 แท่น ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดหาปริมาณก๊าซฯให้กับประเทศได้

ทั้งนี้ แม้ว่าทาง ปตท.สผ.จะมีการลงนามกับทางเชฟรอนฯในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2 หรือ SAA2) เพื่อดำเนินการติดตั้งแท่นปิโตรเลียม ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน (Operations Transfer Agreement: OTA) และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทาน เพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน (Asset Retirement Access Agreement หรือ ARAA) ไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม 
แต่การติดตั้งแท่นผลิตก๊าซฯ จำนวน 8 แท่น ไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลา 4 เดือนนี้ ซึ่งต้องใช้เวลา 24 เดือน ถึงจะทำให้ปริมาณก๊าซกลับมาตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเพื่อให้กระทบต่อความเสียหายของประเทศให้น้อยที่สุด เมื่อ ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่ได้นับจากเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไปแล้ว จะพยายามเร่งการดำเนินงานเพื่อให้การผลิตก๊าซในช่วงดังกล่าวสามารถเพิ่มขึ้นมาที่ราว 250-300 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวันให้ได้เป็นอย่างต่ำ

“นับจากปี 2565 เป็นต้นไป ปตท.สผ.จะเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 แท่น และต่อเนื่องในปีถัดไปอีกราว 4-12 แท่น รวมถึงทำการสำรวจปริมาณก๊าซฯในแหล่งเอราวัณ และจะทำการเจาะหลุมผลิตราว 100-200 หลุมต่อปี เพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามสัญญาพีเอสซี ซึงในปี 2565 จะใช้เงินลงทุนสำหรับแหล่งเอราวัณนี้ราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
นายมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาผลิตก๊าซฯไม่ได้ตามสัญญาพีเอสซี นับจากวันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ทางปตท.สผ.ได้ส่งแผนการผลิตก๊าซฯที่ล่าช้านี้ไปยังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับทราบแล้ว เพราะปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้ต่ำกว่าแผนราว 550-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ แต่ทางปตท.สผ.จะดำเนินงานให้มีผลต่อความเสียหายของประเทศให้น้อยที่สุด 
โดยจะไปผลิตก๊าซฯจากแหล่งในอ่าวไทยเพิ่มเติมเข้ามา 235 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งบงกชจากเดิม 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์เพิ่มจาก 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือจีดีเอ จากที่ผลิตราว 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ก๊าซในอ่าวไทยหาย 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปี จากนี้ไป ( 2565-2566) แม้ว่าทาง ปตท.สผ. จะผลิตก๊าซฯไม่ได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดและไม่ส่งผลต่อการต้องถูกปรับ เพราะความล่าช้าไม่ได้เกิดจากปตท.สผ.แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น คงจะเป็นเรื่องของการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจี ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ เข้ามาทดแทน ซึ่งเป็นเรื่องของภาครัฐที่จะต้องบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลน เรื่องนี้เข้าใจว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เร่งหารือวางแผนจัดหาแอลเอ็นจีกับทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับแผนการจัดการก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่หายไปในช่วงรอยต่อนั้น อาจจะต้องนำเข้าถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะอย่าลืมว่ามีปริมาณก๊าซที่หายไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากกำลังผลิตเดิมที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน บวกกับกำลังผลิตที่หายไปช่วงรอยต่ออีก 365 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็นที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 665 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งราคาก๊าซที่นำเข้ามาสูงกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทยอย่างแน่นอน ย่อมจะส่งผลถึงราคาค่าไฟฟ้าที่จะประชานจะรับภาระสูงขึ้นด้วย