ทั้งนี้ในปี 2563 ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรมมูลค่ารวมกันกว่า 1.21 ล้านล้านบาท และช่วง 11 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.29 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 15%
ทั้งนี้ในการทำการเกษตรยุคใหม่มีแนวโน้มการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบแม่นยำเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าสินค้า ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย และความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งภาพรวมตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2564 และทิศทางแนวโน้มปี 2565 จะเป็นอย่างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บิ๊กเพลย์เยอร์เครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ดังรายละเอียด
นางวราภรณ์ กล่าวว่า ณ ปัจจุบันสยามคูโบต้าฯมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศสัดส่วนประมาณ 80% (จากมูลค่าตลาดรวม 6 หมื่นล้านบาท ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ส.อ.ท.) โดยคาดการณ์ยอดขายของบริษัทในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 10-15% จากปี 2563 ทั้งนี้ช่วงไตรมาสที่ 3/2564 บริษัทมียอดขายเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักคือกลุ่มแทรกเตอร์สัดส่วน 50% ของยอดขาย รองลงมาคือสินค้าในกลุ่ม Farm machinery 20% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ยอดขายที่เติบโตขึ้นในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญจากสถานการณ์โควิดทำให้แรงงานในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการกลับภูมิลำเนาไปทำการเกษตรมากขึ้นกว่า 1.6 ล้านคน ทำให้มีความต้องการเครื่องจักรไปใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยมีทั้งลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปใช้ส่วนตัวและรับจ้าง ซึ่งส่วนมากแล้วลูกค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัทจะมีภูมิหลังที่ทำเกษตรมาก่อน ขณะที่ลูกค้าเก่ามีการเพิ่มพื้นที่เกษตรและลงทุนเครื่องจักรมากขึ้นจากงานรับจ้างภาคเกษตรที่มากขึ้น ทำให้มีการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 30%”
นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งของการขยายตัวของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรคือ การเติบโตจากการรวมกลุ่มเกษตรกรในการทำนาแปลงใหญ่ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออํานวยต่อการทําการเกษตรมากขึ้น จากปี 2563 เกิดภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสําหรับการเพาะปลูก และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้เครื่องจักรกลการเกษตร หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ อย่างไรก็ดียังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงปริมาณผลผลิตในประเทศ”
นางวราภรณ์ ยังได้ฉายภาพธุรกิจของสยามคูโบต้าฯ ในส่วนของยอดขายของปี 2564 สัดส่วน 60% จะมาจากตลาดในประเทศ และอีก 40% จากตลาดส่งออก โดยมีตลาดหลักได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา โดยสินค้าหลักได้แก่ แทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าว รองลงมาเป็นเครื่องยนต์ดีเซล รถไถเดินตาม รถดำนา และรถขุดขนาดเล็กซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศไทยที่โรงงานสยามคูโบต้าในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี และโรงงานสยามคูโบต้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ยกเว้นรถขุดขนาดเล็กที่นำเข้าจากโรงงานในเครือคูโบต้าจากต่างประเทศ
สำหรับการโปรโมชั่น และส่งเสริมการตลาดของบริษัทในรอบปี 2564 ที่สำคัญ ได้เปิดตัวแคมเปญ “คูโบต้า เคียงข้างสร้างอนาคต” โดยแคมเปญดังกล่าว เกิดจากไอเดียที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรใน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่ทันสมัย รวมถึงกลุ่มแรงงานเกษตรกรมือใหม่และแรงงานคืนถิ่น บริษัทได้พยายามที่จะหาหนทางให้คนกลุ่มนี้สามารถนำนวัตกรรมการเกษตรไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงสร้างแพลตฟอร์ม Agrie-Learning เรียนรู้การทำเกษตร และฝึกขับเครื่องจักรกลการเกษตรภาคทฤษฎีรูปแบบออนไลน์ เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพตอบโจทย์ช่วงสถานการณ์โควิด
อีกกลุ่มหนึ่งคือ เกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้ด้วยตัวเองและมีการรวมกลุ่มใช้เครื่องจักรกลการเกษตร สยามคูโบต้าจะเข้าไปสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกวิสาหกิจใช้เครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวคิด Sharing Economy และเมื่อกลุ่มดำเนินธุรกิจการเกษตรได้อย่างเข้มแข็งแล้วก็จะเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มอื่น เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเกษตรกรเข้มแข็งต่อไป
“ในภาวะยากลำบากเช่นนี้ สยามคูโบต้ายังได้ออกแคมเปญการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ พร้อมเคียงข้างทุกความสำเร็จ สร้างสุขเคียงข้างเกษตรกร กับโปรโมชั่นบัตรของขวัญแทนเงินสด มูลค่าสูงสุด 5,000 บาท เมื่อซื้อสินค้าคูโบต้ารุ่นที่กำหนด ตลอดเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย สินค้า บริการและค่าครองชีพให้กับเกษตรกรไทย โดยคาดว่าทิศทางแนวโน้มภาคการเกษตรและเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2565 จะยังขยายตัวต่อเนื่องจาก จากปี 2564 ที่คาดว่าจีดีพีภาคการเกษตรของไทยจะเติบโตได้ 2-3% และจีดีพีของประเทศที่เราส่งออกหลักคือกัมพูชา คาดการณ์จะขยายตัวได้ 4-5%” นางวราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3743 วันที่ 26-29 ธันวาคม 2564