เอกชนเตือน “โอมิครอน”เสียชีวิตน้อย แต่อาจกระทบศก.ไทยหนักกว่าเดลต้า

26 ธ.ค. 2564 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2564 | 16:59 น.

ภาพรวมผลงานรัฐบาล รวมมุมมองการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และปากท้องประชาชน ช่วงสถานการณ์โควิดในรอบปี 2564 ในมุมมองภาคเอกชนเป็นอย่างไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คำต่อคำ

 

-การแก้ไขปัญหาโควิดของรัฐบาลรอบปีที่ผ่านมาโอเคหรือไม่

คำถามตอบยาก จริง ๆ รัฐบาลก็ทำได้ตามเป้าหมาย แต่ทำได้ไม่ทันเวลา แม้ตอนนี้จะฉีดได้กว่า 100 โดสตามเป้าหมายแล้ว แต่ระหว่างทางคนก็เสียชีวิตไปเยอะ ช่วงแรกก็ถือว่าช้า ทำให้หลายภาคส่วน รวมทั้งภาคเอกชนตอนนั้นก็ยังต้องออกมาเรียกร้องกันใหญ่ ทั้ง 40 ซีอีโอของภาคเอกชนก็ออกมาเรียกร้องให้เร่งมือขึ้นในช่วงแรก เพราะวัคซีนมาไม่ทันช่วงการระบาดของสายพันธุ์หลักคือเดลต้าก็ระบาดเร็วในตอนนั้น ที่สำคัญคือมีคนป่วยและเสียชีวิตกันเยอะ

 

แต่ช่วงหลังภาครัฐก็ได้ปรับวิธีการ เรื่องของอะไรต่าง ๆ ก็ดีขึ้น ตอนนั้นเรากังวลแล้วว่าเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายคือภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกจะสะดุดจากโควิด เพราะมีการแพร่ระบาดมีคนงานติดเชื้อจำนวนมาก แต่ภาคอื่น ๆ ทั้งภาคบริการ ท่องเที่ยวก็ยังแย่อยู่ ยังเหลือภาคผลิตเพื่อส่งออกเราก็พยายามรักษาเครื่องยนต์ตรงนี้ให้ดีที่สุด จนต้องออกมาเรียกร้อง เรียกหาวัคซีนทางเลือกในช่วงนั้นก็ตึงเครียด

 

ภายหลังที่รัฐบาลได้ฟัง และได้ให้เกิดวัคซีนทางเลือกแล้ว ก็ได้ปรับวีธีการในการนำเข้าวัคซีนจากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มเติม ก็ทะลายกำแพงส่งผลให้วัคซีนมีจำนวนเพียงพอแล้วในช่วงหลัง อัตราการฉีดก็มาเร่งเอาในช่วงหลัง ดูแล้วดีขึ้นเยอะในแง่หนึ่ง แต่ช่วงแรกเท่านั้นเองที่อาจจะประเมินสถานการณ์ต่ำไปหน่อย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องเท็จจริง

 

เอกชนเตือน “โอมิครอน”เสียชีวิตน้อย แต่อาจกระทบศก.ไทยหนักกว่าเดลต้า

 

“ตอนนี้ก็น่าดีใจที่ฉีดได้ 100 ล้านเข็ม / โดสตามเป้าหมาย 70% ของจำนวนประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องรีบเร่งต่อไปจากการกลายพันธุ์ของโควิดเป็นสายพันธุ์ “โอมิครอน” ก็คือเร่งฉีดเข็ม 3 (เข็มกระตุ้นภูมิ)ให้กับประชาน เพราะตอนนี้ฉีดเข็มที่ 3 ไปได้ 5 ล้านกว่าโดสเท่านั้นเอง แต่ต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านโดส เพราะฉะนั้นเหลืออีก 45 ล้านโดสต้องรีบเร่งฉีด ตอนนี้เท่าที่ทราบวัคซีนก็มีเพียงพอที่อยู่ในมือรัฐ 60 โดส ดังนั้นต้องเร่งฉีดในเข็มที่ 3”

 

ทั้งนี้ศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย และการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลรวมกันฉีดได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 แสนโดสสบาย ๆ  เพราะฉะนั้นถ้า 45 ล้านโดสถ้ามีของครบแล้ว และก็บริหารจัดการดี ๆ ฉีดให้ได้วันละ 5 แสนโดสเหมือนกับที่ทำมาก็อีก 90 วันก็สามารถที่จะฉีดได้ครบ 45 ล้านโดส เป็น 50 ล้านโดสก็จะไปถึงจุดที่มีความอุ่นใจ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโอมิครอนไม่ให้กระจายวงกว้างเหมือนในอังกฤษที่เวลานี้มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมากกว่า 1 แสนคนต่อวัน (ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ณ ปัจจุบันมากกว่า 200 คน)

 

เอกชนเตือน “โอมิครอน”เสียชีวิตน้อย แต่อาจกระทบศก.ไทยหนักกว่าเดลต้า

 

-ผลงานการดูแลราคาสินค้าเกษตร

ก็พอได้พวกประกันรายได้ อะไรต่าง ๆ  โครงการคนละครึ่งที่มีเฟส 4 ก็ถือว่าโดน และถือเป็นโครงการที่ดี  พวกนี้ก็ชมรัฐบาลได้

 

-โอมิครอนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสุดต่อเศรษฐกิจไทยในเวลานี้

ใช่ ทั้งนี้โอมิครอน แม้จะระบาดเร็ว แต่วาอัตราการเสียชีวิตหรือความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ถ้ามันติดจำนวนมาก หรือสมมุติติดกันทั้งประเทศเลย ระบบสาธารณสุขก็อาจล่ม โรงพยาบาล เตียงต่าง ๆ ก็อาจไม่เพียงพอ ที่สำคัญกว่านั้นคือจะส่งผลด้านจิตวิทยาไม่มีคนกล้าออกจากบ้าน ต้องมีการล็อกดาวน์ รัฐบาลโดย ศบค.ก็อาจต้องพิจารณาล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง อันนี้จะส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจหนักกว่าเดลต้า เพราะเดลต้าเสียชีวิตมากเศรษฐกิจก็หนัก แต่โอมิครอนอาจจะเสียชีวิตน้อยกว่า แต่หากการระบาดมากกว่ามันจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าสายพันธุ์เดลต้า

 

เอกชนเตือน “โอมิครอน”เสียชีวิตน้อย แต่อาจกระทบศก.ไทยหนักกว่าเดลต้า

 

เพราะฉะนั้นตัวเลขจีดีพีไทยที่คาดการณ์ว่าปีหน้าจะขยายตัวได้ 3.9-4% (ประเมินโดยธนาคารโลก) ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เราคาด 3.5-5% และหลายคนก็บอกว่า 3.9% บ้าง 4% บ้าง ก็ตีว่า 4% ยังไม่รวมผลกระทบจากโอมิครอน ถ้าเจอโอมิครอนแล้วเอาไม่อยู่จะส่งผลทำให้การส่งออกของเราที่กำลังดีอยู่ อาจจะขาดช่วง โอมิครอนน่าเป็นห่วง เพราะในประเทศเอง และในต่างประเทศ ถ้าอังกฤษ หรือในยุโรปเอาไม่อยู่ มันต้องล็อกดาวน์สภาพเดิม ในภาพเดิม ๆ ก็จะกลับมา พวกเรือบรรทุกสินค้า ท่าเรือ คอนเทนเนอร์ คนทำงานก็จะหยุดกันหมด เพราะฉะนั้นจะกลับมาเป็นวงจรนับ 1 ใหม่

 

“โอมิครอน ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม และควบคุมได้ ไม่เสียหายมาก การขยายตัวของจีดีพีก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเสียหายมาก จะทำให้การท่องเที่ยวที่กำลังเปิดประเทศเสียหาย อย่างตอนนี้ง่าย ๆ เลย มี 2 แสนคนที่ลงทะเบียนแล้ว (Test & Go และ Sandbox) เขาก็อนุญาตให้ 2 แสนคน(ที่ลงทะเบียนไว้และยื่นความจำนงมา) ใช้ Test& Go ยังอนุญาตให้เข้ามาได้ แต่คนที่ได้รับอนุมัติแล้วมี 1.1 แสนคน เหลืออีก 9 หมื่นคนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งคาดว่า 2 แสนคนนี้จะเข้ามาแล้วก็มีกำหนดจนถึงวันที่ 10 มกราคม 2565 แต่หลังจากนั้นจะต้องเป็นมาตรการที่เข้มข้น ไม่อนุญาตให้คนใหม่เข้ามา ก็จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทัวร์ต่าง ๆ ที่กำลังจะฟื้นตัวกลับมา และต้องลงทุนใหม่ในเรื่องของการซ่อมแซมห้อง โรงแรมต้องปรับปรุงเรื่องระบบแอร์ ระบบน้ำร้อนต่าง ๆ ที่หยุดไปนาน บางโรงแรมต้องทาสีใหม่ และทำโน่นทำนี่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไปอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่กัดฟันลงทุนจริงๆ เพราะพวกที่ไปไม่ไหวก็ล้มกันไปหมดแล้ว”

 

เอกชนเตือน “โอมิครอน”เสียชีวิตน้อย แต่อาจกระทบศก.ไทยหนักกว่าเดลต้า

 

พอมาถึงเปิดไม่ทันไรก็ต้องหยุดสะดุดอีกแล้ว เพราะว่านักท่องเที่ยวไม่เข้ามา ซึ่งรัฐบาลโดย ศบค.ก็บอกว่าวันที่ 4 มกราคม 2565 จะมาประเมินอีกทีว่า หลังจากที่ประชาชนผ่านช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ไปแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดไม่ดีก็จะต้องมีมาตรการต่อเนื่องหลังจากวันที่ 4 มกราคมไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งนักท่องเที่ยว การค้า การส่งออก ถ้าคนติดเชื้อเยอะ ทุกภาคส่วนก็จะกระทบไปหมด รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตด้วย

 

-ตอนนี้ประเทศคู่ค้าของเรามีใครกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง

ก็มียุโรปเช่น อังกฤษ เยอรมัน อเมริกาบางแห่ง รวมทั้งตอนนี้ออสเตรีย หลายประเทศในยุโรปตอนนี้แย่เลย เพราะว่าให้หยุดตั้งแต่เทศกาลคริสต์มาสไปจนถึงข้ามปีใหม่ไปเลย ซึ่งตรงนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมต่างชาติซึ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญ ช่วงที่คนออกมาจับจ่ายใช้สอย และเป็นช่วงที่ดีที่สุด ทำไมต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ นั่นหมายความว่าคงมีความซีเรียส น่าเป็นห่วง คิดว่าลึก ๆ แล้วพวกคุณหมอคงมองถึงการแพร่ระบาดที่มันเร็วมาก จนกลัวว่าจะรับมือไม่ทัน ซึ่งเราต้องมาคุยกันในเรื่องนี้ต่อไป

 

-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ เช่น คนครึ่งเฟส 4 ช้อปดีมีคืนปี 2565 ที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยได้มากน้อย

รัฐบาลก็จะใช้เงินอีกหลายหมื่นล้าน แน่นอนก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการอย่างเช่นคนละครึ่งก็ได้ผล ถึงได้ต่อมา 4 ครั้งแล้ว และช้อปดีมีคืน 3 หมื่นบาทก็นำมาใช้อีก ตรงนี้ก็เห็นด้วย

 

สิ่งที่อยากฝากทางภาครัฐอีกเรื่องก็คือต้องมีมาตรการเยียวยาภาคบริการ ภาคโรงแรม ภาคอะไรอย่างนี้อีกเพราะว่าตอนนี้พวกเขาบอบช้ำกันมามาก กลุ่มนี้ต้องเตรียมแพ็คเกจให้เขาเพิ่ม จากท่องเที่ยวยังไม่เข้าเป้า  และพวกที่ฟื้นขึ้นมาต้องหยุดอีก หรือทำให้เขาสะดุด รับก็ต้องเตรียมหามาตรการควบคู่กันไปเพราะ ต้องเตรียมเงินในการที่จะช่วยเหลือพวกเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่อเที่ยว ภาคบริการ ร้านอาหาร อะไรต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากที่เราต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น หรือจากที่ไม่อนุมัติให้นักท่องเที่ยวเข้ามา