ถอดบทเรียนรัฐแก้ปัญหาโควิดรอบ 1 ปี จี้เตรียมกระสุนเยียวยาเพิ่ม-เร่ง ศก. BCG

26 ธ.ค. 2564 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2564 | 13:19 น.

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ถอดบทเรียน 1 ปีการแก้ไขปัญหาโควิดของไทยมีอะไรที่เป็นจุดเด่น และจุดด้อยบ้าง และจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”รัฐบาลต้องเร่งทำเรื่องอะไรบ้าง “ผ่าน”ฐานเศรษฐกิจ”

 

นายชัยชาญ ถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโควิดของไทยว่า มี 2 มิติคือ ช่วงแรกในเรื่องของวัคซีนที่เราฉีดเป็นซิโนแวค ไม่ได้มีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เพราะประสิทธิภาพตามข้อมูลของหมอ ซิโนแวคก็ถือว่าต่ำสุดที่ต่อสู้กับเชื้อโควิดสายพันธุ์ “เดลต้า”ที่ระบาดมาในช่วงแรก ซึ่งถ้าเกิดการกลายพันธุ์ก็น่าจะให้มีการศึกษาให้รอบคอบในการคัดเลือกวัคซีนที่เหมาะสม และป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส

 

เรื่องที่ 2 เรื่องของระยะเวลา ช่วงต้น ๆ นี่สับสนอลหม่านมาก แล้วก็ในเรื่องการบริหารจัดการอาจจะตั้งหลักหรือมีการเริ่มต้นที่ช้าไป แต่ท้ายที่สุดก็สามารถปิดลงได้ด้วยการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสแล้วในเวลานี้

 

ถอดบทเรียนรัฐแก้ปัญหาโควิดรอบ 1 ปี จี้เตรียมกระสุนเยียวยาเพิ่ม-เร่ง ศก. BCG

 

 

“แต่ล่าสุดเราต้องมาตั้งหลักกันใหม่ กรณีถ้าโอมิครอนระบาดแรงขึ้นมา วัคซีนที่มีอยู่ สูตรการฉีดวัคซีนแบบไหนน่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน เพราะฉะนั้นมันจึงตามมาด้วยข้อที่ 3 ของผมก็คือเรื่องของการสื่อสารข้อมูลอย่างแท้จริงให้กับประชาชน เพราะประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลให้ข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วนในเรื่องของวัคซีนที่เหมาะสมจากนี้ไปจนถึงอนาคต ผมว่าจะช่วยให้ประชาขนเข้าใจมากขึ้น”

 

ตอนนี้ประชาชนหลายคนถามว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 หรือไม่ ซึ่งคงต้องฉีด แต่คำถามคือเมื่อไหร่ และฉีดไขว้อย่างไร จะเกิดผลข้างเคียง สู้กับโอมิครอนได้หรือไม่ คำถามก็จะออกมาเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญคือเรื่องของการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ในระยะเวลาที่เหมาะสมให้กับประชาชนโดยทั่วไป ไม่อยากให้ไปหากันเอง

 

ถอดบทเรียนรัฐแก้ปัญหาโควิดรอบ 1 ปี จี้เตรียมกระสุนเยียวยาเพิ่ม-เร่ง ศก. BCG

 

 

ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลต้องคิดไว้เลยว่า ช่วงเกิดโควิด และหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ตอนนี้สรรพกำลังส่วนใหญ่ของรัฐบาลก็ทุ่มไปในเรื่องของการฉีดวัคซีน เงินที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะมีไม่เพียงพอ เพราะไปลงที่ค่าวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วงบประมาณที่จะมีอยู่ในอนาคตจะเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะว่าภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว ต้องเรียกว่าชะงักงันและซบเซา และภาคนี้ก็มีคนอยู่ในระบบแรงงานมาก เรื่องของการจ้างงานก็หายไป คราวนี้ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ประชาชนรากหญ้าก็จะลำบากละ เพราะว่าเขาไม่มีรายได้ และในภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่นภาคธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เขาน่าจะได้รับการเยียวยาอย่างสูงสุด เพราะนักท่องเที่ยวไม่ได้เข้ามาตามเป้าหมาย อันนี้คือภาคของสังคม

 

ส่วนในแง่ของภาคการผลิต ที่เห็นได้ชัดคือการขาดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถึงแม้จะมีหลายโครงการความช่วยเหลือ แต่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงิน เพราะเอสเอ็มอีไม่มีรายได้ในช่วงที่ผ่านมา วางแผนงานได้ยาก แต่ต้องจ่ายค่าวัตถุดิบอะไรอย่างนี้ จะเห็นเลยว่ากระแสเงินสดของเอสเอ็มอีก็ขาด

 

ส่วนภาคการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึงขาดกระแสเงินสดโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นรายได้ส่วนหลักของประเทศมาจากการส่งออก ซึ่งมีโอกาสขยายตัวอีกมาก แต่ว่าเรื่องของระบบโลจิสติกส์ ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ค่าระวางเรือระดับสูง ซึ่งอยากให้รัฐบาลนำเงินบางส่วนมาสนับสนุนผู้ส่งออกด้วย ในแง่ของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะสนับสนุนได้เช่น เรื่องภาระหน้าท่าเรือที่อาจจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกได้ เพราะผู้ส่งออกก็ได้รับความเดือดร้อนจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น

 

ถอดบทเรียนรัฐแก้ปัญหาโควิดรอบ 1 ปี จี้เตรียมกระสุนเยียวยาเพิ่ม-เร่ง ศก. BCG

 

ทั้งนี้ค่าภาระหน้าท่าเรือ (THC) เอกชนต้องจ่ายให้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เขาคิดตามขนาดตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้สั้น 20 ฟุต 2,800 บาทต่อตู้ และตู้ยาว  40 ฟุตที่ 4,300-4,3503 บาทต่อตู้) ซึ่ง สรท.จะนำเรื่องเสนอการท่าเรือฯ เพื่อช่วยลดภาระ เพราะจะเห็นได้ว่าปีนี้ส่งออกขยายตัวสูงถึง 15% และนำเงินตราเข้าประเทศกว่า 8.5 ล้านล้านบาท แต่ต้นทุนพุ่งเอาไปกินหมด ดังนั้นจึงอยากอยากขอให้ภาครัฐช่วยลดต้นทุนผู้ส่งออก โดยลดจ่ายค่าภาระหน้าท่า

 

ส่วนในเรื่องของแรงงานพบว่า บางกลุ่ม เช่น อาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์เขาก็กังวลใจเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม  และภาระที่ท้าทายในปีหน้าคือการควบคุมต้นทุนราคาสินค้าไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในอนาคต อันนี้คือสิ่งท้าทายสำหรับรัฐบาล ซึ่งเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ค่าแรง ค่าขนส่ง และอื่น ๆ

 

“ถ้าถามว่าแล้วรัฐบาลเป็นอย่างไร ถ้าวัดกันที่ในเรื่องของความตั้งใจ รัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ในแง่ของกลยุทธ์ในภาพรวมอาจจะปานกลาง ก็เลยทำให้ในแง่ของการแอ็คชั่น เมื่อกลยุทธ์มาไม่ดี แอ็คชั่นไปอาจจะได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นก็ยังอยู่ระดับที่ปานกลาง สิ่งที่ภาคเอกชนมองก็คือเรื่องของการขาดในแง่ของการบูรณราการ การเชื่อมโยงกลยุทธ์ต่าง ๆ ของปัญหาต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน”

 

ถอดบทเรียนรัฐแก้ปัญหาโควิดรอบ 1 ปี จี้เตรียมกระสุนเยียวยาเพิ่ม-เร่ง ศก. BCG

 

สำหรับในระยะต่อไปที่รัฐบาลจะต้องเตรียมคือ 1.อุดหนุนในแง่ของเรื่องที่จะเจอแน่นอนในปี 2565 ก็คือ ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และต้องปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ 2.เรื่องของการปรับปรุงภาคการผลิตที่จะเข้าไปสู่จากระบบใช้แรงงานไปใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ก็ต้องมีการอุดหนุนในแง่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ 3.อันไหนดีอยู่แล้วก็จะต้องปรับปรุงเพื่อรองรับกับกฎระเบียบการค้าใหม่ เช่น ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของ BCG ก็คือ Bio-Circular-Green ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกรวมทั้งไทย เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป พวกเราก็ต้องปรับปรุงโรงงาน ปรับปรุงทั้งซัพพลายเชนเพื่อให้เป็นไปตาม BCG ของโลก หรือเรียกว่ามาตรฐานการนำเข้าที่เข้มข้นมากขึ้น