อุตสาหกรรมดาวรุ่งจะมีอุตสาหกรรมอะไรบ้างในปี 2565 เป็นประเด็นที่น่าสนใจและติดตาม เพราะจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะในยุคของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่ปัจจุบันกลายพันธุ์มาจนถึง "โอมิครอน" (Omicron) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนผ่านไปอย่างมากมายในโลกของธุรกิจ
ต่อเรื่องดังกล่าวนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานสายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม รับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ ให้ข้อมูลกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้ม 10 อุตสาหกรรมไทยที่มีแนวโน้มรุ่งในปี 2565 ประกอบด้วย
1.อุตสาหกรรมยานยนต์ปี 65 ยอดขายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของผู้บริโภคจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์น่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงกลางปี 65
อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องติดตามต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicle (ZEV) สัดส่วน 30% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ในปี 2573 ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันจากแหล่งผลิตอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนในไทยของค่ายรถยนต์จากจีนที่น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นอาจเป็นหนึ่งในการช่วยเปิดตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการสูญเสียตลาดจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังตลาดมุ่งสู่รถยนต์ ZEV ในอนาคต
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2564 อยู่ที่ 1,550,000-1,600,000 คัน แบ่งเป็นการส่งออก 800,000-850,000 คัน และยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 750,000 คัน จากงานมหกรรมยานยนต์ที่จะมีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม และรัฐบาลเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนปีนี้เป็นต้นไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง
2.อุตสาหกรรมอาหารปี 65 เติบโตต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวรวมถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทย ด้านการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า ทั้งนี้แม้จะยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องติดตาม แต่ภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และต้นทุนขนส่งน่าจะดีขึ้นตามกลไกตลาดในช่วงกลางปี 2565
อุตสาหกรรมอาหารไทยท่ามกลางโควิด-19 นอกจากต้องเพิ่มความสามารถใน การแข่งขันผลิตสินค้าที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้ว จำเป็นต้องมองหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ดังนั้น อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และพืชแห่งอนาคต (Future Crop) คือ คำตอบที่ไขประตูแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทย
สิ่งที่กำลังเป็นกระแสการบริโภคขณะนี้ คือ อาหารที่ใช้โปรตีนจากพืช ผลิตเป็นอาหารเชิงสุขภาพ หากพิจารณาประมาณการมูลค่า ทางเศรษฐกิจของอาหารกลุ่ม Future Food ระหว่างปี 2565–2569 คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 111,100 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) Future Food consumer Packaged Good (มูลค่ารวมกว่า 61,100 ล้านบาท) มีสินค้าที่โดดเด่นคือ กลุ่มสินค้า Whole Food, อาหาร Function, อาหารโปรตีนจากพืช, ผงโปรตีนจากแมลง และ 2) Premium Pet Food (มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท) ได้แก่ อาหารสัตว์เสริมโภชนาการ เป็นต้น
3.อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมปี 65 ซึ่งไทยอยู่ใน Global Supply Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญมีผู้ผลิตกว่า 600 บริษัทและ 30% เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตระดับโลก โดยผลิตภัณฑ์ของไทยจะอยู่กลางน้ำและปลายน้ำ เช่น การประกอบและทดสอบ เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วน (HDD) ซึ่งยังมีความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน Cloud Computing และ Data Center ในการจัดการกับ Big Data ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมของไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก เติบโตอย่างต่อเนื่องคาดว่าปี 2564-2565 จะขยายตัวมากกว่า 10% ซึ่งสินค้ากลุ่ม Integrated Circuits (IC) มีความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นมาก
ประกอบกับยังมีปัจจัยเชิงบวกจากการทำงานและการเรียนที่บ้าน ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น พีซี โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต เกมคอนโซล และสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้น รวมถึง เมกะเทรนด์เทคโนโลยีระดับโลก อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่จะมีข้อกำหนดด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้ IC มากขึ้น
รวมถึง สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่รองรับ 5G ใช้ IC มากกว่าอุปกรณ์ 4G เช่นกัน อีกทั้ง เครือข่าย 5G จะช่วยเร่งการใช้ Internet of Things (IoT) ในอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นอีก
4.อุตสาหกรรมดิจิทัลปี 65 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท เนื่องจากการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เร่งให้เกิด การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีที่สำคัญที่ขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยี 5G, อินเทอร์เน็ตออฟธิง (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีบล็อกเชน
ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังยุคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการ Cloud Computing มากขึ้น
ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 64 กลุ่มสินค้าซอฟต์แวร์ (Software) มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 แม้ผู้ประกอบการ จะพยายามปรับรูปแบบธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับ Digital Transformation มากขึ้น แต่ยังมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ชะลอการลงทุน จึงไม่สามารถกระตุ้นให้ตลาดซอฟต์แวร์เติบโตตามปกติได้ แต่กลับไปขยายตัวที่ตลาดบริการซอฟต์แวร์และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภค จะซื้อบริการตรงจากแพลตฟอร์มต่างประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มสินค้าฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) ขยายตัวจากปีที่ผ่านมาหลังมีการ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การเปิดเมือง เปิดห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าบริการดิจิทัล (Digital Services) มีอัตราการเติบโตที่สูงจากผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น
5.อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพปี 65 ยอดขายเครื่องมือแพทย์ ในประเทศน่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหนุน 1)ความตระหนักที่มากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพส่วนบุคคลและสาธารณะ
2)จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และสังคมสูงวัย จะทำให้ความต้องการอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย
3)การลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อขยายสิ่งอำนวยความสะดวกและการเปิดสาขาใหม่ และ (4) สิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเครื่องมือแพทย์
อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ฯ ของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนมาจากความต้องการด้านการแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือการแพทย์ เลนส์แว่นตา ไซริงค์ ชุดสายน้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งมีผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้ผลิตมากกว่า 800 ราย
ขณะที่กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมของภาครัฐที่ผลักดันผลงานวิจัยนวัตกรรมการแพทย์และการสนับสนุน กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้นำผลงานเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น
ประกอบกับการมีจุดแข็งจากพื้นฐานอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงทั้งการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ระบบออโตเมชั่นต่างๆ ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสามารถยกระดับเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคได้
6.อุตสาหกรรมยาปี 65 คาดว่าความต้องการจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งมาจาก 1) ระดับความเจ็บป่วยในประชากรไทย ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การรักษาโดยปกติต้องอาศัยยานำเข้า ที่มีราคาแพง
2)สังคมสูงวัย
3)การขยายความคุ้มครองสุขภาพอย่างครอบคลุมประชากรทั้งหมดซึ่งจะผลักดันความต้องการยาชื่อสามัญมากขึ้น
และ4) การลงทุน ในการผลิตยาที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ค้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยการแข่งขันอาจรุนแรงขึ้นจาก การนำเข้ายาจีนและอินเดียมีต้นทุนที่ต่ำลงมาก และการเข้ามาของผู้เล่นต่างชาติรายใหม่ รวมถึง ธุรกิจไทยในภาคอื่นๆ ที่ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมยา เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในระยะยาว แนวโน้มการลงทุนที่สูงขึ้นได้รับแรงหนุนจากความต้องการยาที่เพิ่มขึ้น และโครงการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ (รวมถึงการผลิตยา) รวมถึง การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายา การรักษาและวัคซีนคุณภาพสูง
7.อุตสาหกรรมสมุนไพรปี 65 จากเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่หันมานิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับเกิดกระแสค่านิยม การบริโภคอาหารปลอดภัยอย่างกว้างขวางทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อีกทั้งยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชสมุนไพรถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่มีความต้องการ จากตลาดสูง ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสการเติบโต ประกอบกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นยาสมุนไพรอยู่ในหมวดยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านจะต้องมีติดบ้าน จึงทำให้สินค้ายังคงเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ
8.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปี 65 จากแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารเสริมและวิตามินที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยเร่งอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของคนยุคใหม่ รวมถึงประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และไทยยังเป็นแหล่งผลิต ที่มีศักยภาพด้านสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะใช้จุดแข็งของสมุนไพรและต่อยอดการใช้เทคโนโลยีและการวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ของไทยเพื่อขยายตลาดต่างประเทศและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกต่อไป
ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของโลกโดย Euromonitor ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้เล็กน้อยในระยะยาว โดยคาดว่าระหว่างปี 2564-2569 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของโลกจะเติบโต เฉลี่ยได้ที่ปีละ 5.3% ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569 หากพิจารณาในรายประเทศ ยังคาดว่าในช่วงปี 2564-2569 อินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 11% มาเลเซียะ 10.1% เวียดนาม 9.8% ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทย จะเติบโตเฉลี่ยที่ 5.1% ในช่วง 6 ปีนี้
9.อุตสาหกรรมเครื่องสำอางปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 4% เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมองการแต่งหน้าเป็นแฟชั่น ผู้บริโภคในปัจจุบันทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ กลุ่มความหลากหลายทางเพศให้ความสนใจและความสำคัญกับการรักษาความสะอาด การดูแลรักษาสุขภาพ และดูแลตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลความงามมีความหลากหลายและเหมาะสมแต่ละบุคคลเพิ่มขึ้น
โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกและสัมผัสสะอาด เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขอนามัยมากขึ้น นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรี (FTAs) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยให้เติบโต ซึ่งเครื่องสำอางไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน มีเอกลักษณ์
และมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และไทยมีศักยภาพกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เห็นได้จากโรงงานผลิตเครื่องสำอางของไทยแบบ OEM รับผลิตสินค้าให้แบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศหลายแห่ง
10.อุตสาหกรรมเหล็กปี 65 ต่อเนื่องจากความต้องการเหล็กปี 64 ภาพรวมดีขึ้น กว่าปี 63 เพิ่มขึ้นประมาณ 15% ที่ 18.9 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าปี 65 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5% ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในไทยใกล้เคียง 20 ล้านตัน โดยมีปัจจัยบวกที่ชัดเจน คือ การลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อเร่งอัดฉีดการเติบโตของเศรษฐกิจ
รวมถึงภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเมื่อสามารถปรับตัวกับภาวะโรคระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประชากรในประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และคาดว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคบริการจะฟื้นตัวได้ดี และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ คาดว่าการซื้อขายระหว่างประเทศอาจจะเปลี่ยนไปด้วยผลจากต้นทุน การขนส่งที่เพิ่มขึ้นและเส้นทางเดินเรือที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องโรคระบาด จึงส่งผลให้การขนส่งล่าช้า เหล่านี้ทำให้การซื้อขายจะเปลี่ยนจากระดับโลกกลายเป็นระดับภูมิภาคมากขึ้นแทน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมในปีหน้า อีกทั้งข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่จะถูกยกมาใช้เป็นกำแพงทางการค้า รวมถึงการขนส่งทางรางที่กำลังกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า