ทวงหนี้ 3.7หมื่นล้านบีทีเอสฟ้องกทม.จ่ายค่าเดินรถ-วางระบบสายสีเขียว

06 ม.ค. 2565 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 09:38 น.

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอลเวง กทม.อ่วม หนี้พุ่ง บีทีเอสฟ้องศาลปกครอง ทวงหนี้ 3.7 หมื่นล้าน 2 คดีรวด 4 ปี หนี้งอกอีก 5 พันล้าน จากเดิม3.2หมื่นล้าน ขณะ “อัศวิน” ผู้ว่ากทม. ยันเป็นสิทธิ์เอกชน-พร้อมแนะทางออกรัฐบาล

 

ปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี แลกหนี้ 100,700 ล้านบาท ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของกระทรวงมหาดไทย อาจกลายเป็นเส้นขนาน เพราะกระทรวงคมนาคม และสภาองค์กรของผู้บริโภคจับมือคัดค้าน

ไม่เห็นด้วย กับข้ออ้างที่ว่า อาจเป็นการเอื้อให้กับภาคเอกชนทั้งที่อายุสัมปทานยังเหลืออีกมาก ครั้นเมื่อ กทม. จะเรียกเก็บค่าโดยสาร ตลอดสาย 65 บาท เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับบีทีเอสซี กลับถูกคัดค้านว่าเป็นราคาที่สูงเกินจริงเมื่อเทียบกับMRTสายสีน้ำเงิน

บีทีเอสแบกหนี้ไม่ไหว

  ท่ามกลางสงครามทางการเมืองที่ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน ได้สร้างความเดือดอย่างหนักให้กับ เอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างบีทีเอส ต้องแบกภาระหนี้แทน กทม. ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) รวมดอกเบี้ยที่พอกพูนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

จนถึงขั้น บีทีเอสซี ประกาศหยุดเดินรถ และในที่สุด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางรางสายแรกของประเทศไทย ได้ออกมาประกาศยืนยันจะให้บริการเดินรถต่อไป พร้อมกับหาทางทวงหนี้ กทม. ในทุกช่องทางจนในที่สุดได้ ยืนฟ้องศาลปกครองในที่สุด

ฟ้องทวงหนี้3.7หมื่นล้าน

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน สิงหาคม 2564 บีทีเอสซีได้ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถพร้อมดอกเบี้ย วงเงิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งศาลได้ผ่อนปรน กทม. เป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อหาเอกสารหลักฐานนำมาชี้แจงต่อศาล นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เบื้องต้นอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร เนื่อง จากมีรายการค่อนข้างเยอะ เช่น ค่างาน VO รวมทั้งสัญญาที่ต้องดำเนินการ หลังจากที่ผ่านมาบริษัทฯได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ 12,000 ล้านบาท คาดว่าจะฟ้องร้องเพิ่มเติมต่อศาลปกครองได้เร็วๆ นี้

 

ทวงหนี้ 3.7หมื่นล้านบีทีเอสฟ้องกทม.จ่ายค่าเดินรถ-วางระบบสายสีเขียว

“กรณีที่บริษัทฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ จำนวน 12,000 ล้านบาท กับกทม.และบ.กรุงเทพธนาคมนั้น เบื้องต้นศาลปกครองกำหนดให้ กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำคำชี้แจงต่อศาลปกครองเพื่อนำข้อมูลมาประกอบ ซึ่งได้รับรายงานว่าทางกทม.-บ.กรุงเทพธนาคม ขอเลื่อนการทำคำชี้แจงดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขอเลื่อนเวลาทำคำชี้แจงไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่าศาลปกครองฯให้เลื่อนนัดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน กทม. ยังไม่มีการนัดเจรจากับบริษัทแต่อย่างใด ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับกทม.เป็นผู้พิจารณา”

4 ปีหนี้พุ่ง 5,000 ล้าน

สำหรับภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐมีต่อบีทีเอสตั้งแต่เดือนเมษายน 2560-ปัจจุบัน มีหนี้ค่าจ้างเดินรถและหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) เพิ่มขึ้นจำนวน 5,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) เนื่องจากปัจจุบันบริษัทยังคงให้บริการเดินรถฟรีแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมหนี้สะสม จำนวน 37,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีมูลหนี้อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถ จำนวน 12,000 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,000 ล้านบาท

“อัศวิน” ยึดขั้นตอนศาล

 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีบีทีเอสซี ฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ต่อศาลปกครองนั้น ทาง กทม. ต้องดำเนินการทำคำชี้แจงตามที่ศาลปกครองให้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันทางศาลปกครองยังไม่ได้เรียกให้ทำคำชี้แจง เบื้องต้นทางกทม. ได้ทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ไขภาระหนี้สินที่มีต่อบีทีเอส และของบประมาณมาชำระหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท ให้กับบีทีเอสที่ฟ้องร้อง จำนวน 2ครั้งแล้ว

                “เรามองว่าเป็นเรื่องปกติที่บีทีเอสจะฟ้องร้องเพราะเป็นสิทธิ์ของเขา ที่ผ่านมาเราก็ไม่มีงบประมาณมาชำระหนี้ให้กับเขาเช่นกัน ส่วนการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างการจัดทำตารางเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดว่าจะได้ข้อสรุปการจัดเก็บค่าโดยสารภายในเดือนมกราคมนี้ หลังจากได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว เราจะเร่งดำเนินการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารกับประชาชนที่ใช้บริการต่อไป”

 

กทม.เสนอทางออก

                ด้านทางออก กทม. ได้เสนอ ต่อรัฐบาลดังนี้ 1.โอนคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปบริหารตามเดิม 2.ภาครัฐให้งบประมาณ กว่า 30,000 ล้านบาท แก่กทม.เพื่อชำระหนี้ให้บีทีเอส 3.ต่ออายุสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้กับบีทีเอส 30 ปี จนถึงปี 2602

                นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคข้อทักท้วง 4 ประเด็นของกระทรวงคมนาคม 1.ความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.การคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการต่ำกว่า 65 บาท 3. การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้สินทรัพย์ว่า

รัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานอย่างไรจนกว่าจะครบอายุสัญญา 4. ข้อพิพาททางกฎหมาย เนื่องจาก กทม. ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ขยายสัมปทานอลเวง

                แหล่งข่าววงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า กรณีการแก้ปัญหาหนี้ท่วมของกทม.ที่ค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวและค่าก่อสร้างระบบ รวมมูลหนี้กว่า 120,000 ล้านบาท ที่ยังคงหาข้อยุติไม่ได้ จนถูกบริษัทเอกชนคู่สัญญา ฟ้องแม้กระทรวงมหาดไทยจะตั้งคณะกรรมการเจรจาปัญหาหนี้ดังกล่าวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 จนได้ข้อยุติ ที่จะให้ต่อขยายสัมปทาน 30 ปี ให้บีทีเอส แต่การเสนอเข้าครม.แต่ละครั้งได้ถูกกระทรวงคมนาคมคัดค้าน